จับตา! ส่ง 'ไพรินทร์' นั่ง กก. หวังต่อยอดเป็นประธานบอร์ด ปตท.

จับตา! ส่ง 'ไพรินทร์' นั่ง กก. หวังต่อยอดเป็นประธานบอร์ด ปตท.

จับตาส่ง "ไพรินทร์ " เหลือเวลาทำงาน 7 เดือน นั่ง กก. หวังต่อยอดเป็นประธานบอร์ด ปตท.

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากบริษัท ปตท. ว่า บริษัทเตรียมแต่งตั้ง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีต CEO ปตท. เป็นกรรมการบริษัท ปตท. แทน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ลาออกเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 เพื่อไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า นายสุพัฒนพงษ์ เตรียมจะผลักดัน นายไพรินทร์ นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. แทน นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ที่จะพ้นวาระในเดือน พ.ย. 2563 นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตการแต่งตั้ง นายไพรินทร์ เพราะตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับ กรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ .2550 ในมาตรา 5(2) กำหนดไว้ว่า กรรมการของรัฐวิสาหกิจ ต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ซึ่ง นายไพรินทร์ เกิดวันที่ 8 ก.ค. 2499 ปัจจุบัน มีอายุ 64 ปี กับอีก 1 เดือน และจะครบ 65 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 8 ก.ค. 2564 หากเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. แทน นายไกรฤทธิ์ ในเดือน พ.ย.2563 ก็เท่ากับว่าจะมีเวลานั่งทำงานในตำแหน่งนี้ แค่ 7 เดือนเท่านั้น

159780560376

จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า จะแต่งตั้งคนที่มีอายุงานเหลืออีกแค่ 7 เดือน มานั่งเป็นประธานบอร์ดเพื่ออะไร เพราะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานแห่งชาติ มีบทบาทในการคุมทิศทาง และเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ ควรคัดเลือกคนที่มีอายุงานเหลืออย่างน้อย 2 ปีมาบริหาร เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางบริษัทในระยะยาว 3 ปี 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญ คนที่มานั่งบริหาร ปตท. จะต้องมีธรรมาภิบาล เพราะ ปตท. มีบทบาทในการคุมทิศทาง และเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ ที่สำคัญต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับ ปตท.ด้วย ซึ่ง นายไพรินทร์ เคยถูกชมรมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเอาผิด สมัยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าบริหาร ปตท. และเป็นประธานบอร์ด บริษัท ไออาร์พีซี ได้ยกหนี้ จำนวน 224 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลัง ทั้งที่ในปี 2557 บริษัท ไออาร์พีซี ขาดทุนมากถึง 5,235 ล้านบาท ทำให้ ปตท. และ ไออาร์พีซี ได้รับความเสียหายรวมดอกเบี้ยกว่า 318 ล้านบาท