'บุคลากรทางการแพทย์' ฮีโร่ผู้ถูกคุกคามในวิกฤติ 'โควิด-19'

'บุคลากรทางการแพทย์' ฮีโร่ผู้ถูกคุกคามในวิกฤติ 'โควิด-19'

เนื่องใน "วันมนุษยธรรมโลก" (19 สิงหาคม) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ "บุคลากรทางการแพทย์" ในสถานการณ์ "โควิด-19" ซึ่งมีรายงานว่าถูกคุกคามมากกว่า 600 เหตุการณ์ทั่วโลก

6 เดือนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้พบว่ามีรายงานเหตุรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการตีตรากับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้วมากกว่า 600 เหตุการณ์ ตามที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้รวบรวมเอาไว้

จากทั้งหมด 611 เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มากกว่าร้อยละ 20 เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 15 เกี่ยวกับความกลัวอันมีพื้นฐานจากการเลือกปฏิบัติ และ ร้อยละ 15 เป็นการทำร้ายด้วยวาจาหรือการข่มขู่ ที่น่าเป็นห่วงคือสถิติเหล่านี้สะท้อนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆแต่มีแนวโน้มที่ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้น

“วิกฤตครั้งนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นที่ต้องการมากที่สุด หลายคนถูกดูถูก เลือกปฏิบัติ และตกเป็นเหยื่อการทำร้ายร่างกาย บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวเช่นนี้เมื่อประกอบการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเองทำให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจรวมถึงกับครอบครัวของพวกเขาด้วย” Maciej Polkowski หัวหน้าแผนก Health Care in Danger กล่าว

“การโจมตีที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงและจัดหาบริการทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่ระบบสาธารณสุขมีงานล้นมือ”

ยิ่งถ้าหากเหตุการณ์ดังที่ระบุข้างต้นเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนในชุมชนความหวาดกลัวต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ความเศร้าโศกที่เกิดจากการเสียชีวิตของญาติพี่น้องหรือความหวาดกลัวที่พวกเขาอาจเสียชีวิตจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่เห็นได้ชัดเจน การไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาเช่น การฝังศพอันเนื่องจากข้อห้ามอันเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ทำให้ญาติพี่น้องบางคนแสดงออกอย่างก้าวร้าวต่อบุคลากรทางการแพทย์และสถานที่ให้บริการ

159780444736

ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เช่น

  • ในอัฟกานิสถาน ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต้องปิดตัวนานถึงครึ่งวันเนื่องจากการทะเลาะวิวาทระหว่างญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
  • ในบังกลาเทศ มีการขว้างก้อนอิฐเข้าใส่บ้านหมอหลังจากที่ผลการทดสอบพบว่าเขาติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ทั้งนี้จุดประสงค์ของชาวบ้านคือให้เขาและครอบครัวออกไปจากพื้นที่
  • ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ญาติของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทำร้ายร่างกายของบุคลากรทางการแพทย์เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถรับศพของผู้เสียชีวิตกลับบ้านได้
  • ในโคลอมเบีย ชาวบ้านเข้าขัดขวางรถพยาบาลที่กำลังจะเข้าไปในเมืองเพื่อทำการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 และ ยังตรวจสอบรายชือของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยรวมถึงดูประวัติการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ที่ควรเป็นความลับ
  • ในปากีสถาน แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลถูกโจมตีทั้งทางร่างกายและคำพูดหลังจากที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ญาติๆเดินทางเข้าสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงพร้อมกับตะโกนว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าเป็นเรื่องหลอกลวง
  • ในฟิลิปปินส์ บุคลากรทางการแพทย์และลูกชายต้องออกจากบ้านหลังจากถูกข่มขู่ด้วยการตัดไฟจากเพื่อนบ้าน

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล ร้อยละ 67 พุ่งเป้าไปที่บุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 22.5 พุ่งเป้าไปที่คนเจ็บและคนป่วย (รวมถึงกรณีต้องสงสัย) และ อีกร้อยละ 5 พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้อพยพและลี้ภัย

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและชุมชนต่างๆ ระมัดระวังข่าวสารที่อาจนำไปสู่การบิดเบือนจนนำไปสู่เหตุรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ และ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคลากรทางการแพทย์จะมีพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัย

เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการรองรับที่จำเป็นสามารถนำออกมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกโจมตีให้กับบุคลากร ผู้ป่วย รวมถึงสถานพยาบาล

“ความหวาดกลัวต่อโรคและการขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโควิด-19 มักจะเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย” ด็อคเตอร์เอสเปรันซ่า มาร์ติเนซ หัวหน้าแผนกงานสาธารณสุขของ ICRC กล่าว

“เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลและผู้ป่วยจากเหตุรุนแรง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งที่มา วิธีการติดต่อและการป้องกันโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ไม่ควรถูกตีตราหรือตำหนิเพียงเพราะพวกเขามีแนวโน้มในการแพร่เชื้อไวรัส

เราจำเป็นต้องสร้างแนวคิดด้านมนุษยธรรมให้เข้มแข็งหากต้องการผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปให้ได้”

(หมายเหตุ: เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทั้ง 611 กรณีเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฏาคม 2020 สถิตินี้อ้างอิงจากข้อมูลที่ ได้รับมาโดยตรงจาก ICRC และ องค์กรอื่นๆที่ทำงานด้านสาธารณสุข รวมถึงรายงานข่าวและสื่อออนไลน์ในกว่า 40 ประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกา เอเชีย และ ตะวันออกกลาง)