มติ ก.อ. 9-5 ไม่ตั้งกก.สอบ 'เนตร' - ตร.ขอหมายจับ 'บอส' คดีโคเคน

มติ ก.อ. 9-5 ไม่ตั้งกก.สอบ 'เนตร' - ตร.ขอหมายจับ 'บอส' คดีโคเคน

“คณะกรรมการอัยการ” 9-5 เสียง ไม่ตั้งกก.สอบวินัย “เนตร นาคสุข” ปมสั่งไม่ฟ้อง“คดีบอส” เดินหน้าแก้ปัญหาอนาคต จัดทำหลักเกณฑ์พิจารณาโทษทางวินัยระดับรองอัยการสูงสุด กก.ตรวจสอบชุดตำรวจเผยเหตุขอขยายเวลา 7 วัน พบพนักงานสอบสวนทำผิดซ้ำ จ่อชงสอบวินัยต่อ

 ในการประชุมมคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ที่มีนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธาน วานนี้ (18 ส.ค.) มีวาระการประชุมสำคัญ เรื่อง ตั้งกรรมการสอบการใช้ดุลยพินิจนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส คดีขับชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555

หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอรรถพล เปิดเผยว่า ผลการโหวตเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมไม่เห็นชอบ จึงตั้งคณะอนุกรรมการมาสอบสวนไม่ได้ โดยเหตุผลในที่ประชุม กอ. บางส่วนบอกให้ชะลอการตั้งอนุกรรมการดังกล่าวไว้ก่อน บางคนไม่มีการอภิปราย แต่โหวตไม่เห็นชอบ โดยมีมติที่เห็นชอบมีอยู่ 5 เสียง จากคณะกรรมการรวม 14 คน ส่วนที่เหลือก็มีไม่ออกเสียง และไม่เห็นชอบ โดยขั้นตอนการโหวต นายเนตรต้องออกจากที่ประชุม 

ส่วนเรื่องที่นายเนตรยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นรองอัยการสูงสุด ยังไม่มีรายงานเข้าสู่ที่ประชุม กอ. และการที่นายเนตรมาประชุมในวันนี้ แสดงว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้ลงนามอนุญาตให้ลาออก

 นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ตนได้เสนอหลักเกณฑ์การสอบสวนชั้นต้น และการสอบสวนวินัยข้าราชการอัยการสูงสุด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบ โดยขั้นตอนต้องไปประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะคล้ายกับของปี 2554 ในการสอบวินัยข้าราชการอัยการ ตามมาตรา 74 ซึ่งระดับรองอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด จะเป็นไปตามมาตรา 82 แต่ในวันนี้เสนอเฉพาะรองอัยการสูงสุด ส่วนการประชุมคราวหน้าเป็นการเสนอในส่วนของอัยการสูงสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศราชกิจจานุเบกษาอาจล่าช้า ไม่ทันต่อการดำเนินการทางวินัยนายเนตรหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า น่าจะประกาศเร็ว ถ้าประกาศเร็วก็ต้องตั้งสอบสวนชั้นต้น และถ้าตั้งแล้วพบว่าผิดวินัยก็จะไปสอบว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ หากกรรมการสอบเห็นว่านายเนตรไม่ผิดเลยก็สอบไม่ได้

ส่วนกรณีที่มีการอนุญาตให้นายเนตรลาออกก่อนมีราชกิจจานุเบกษาจะสอบวินัยไม่ได้นั้น ต้องคิดในแง่หลักธรรมชาติว่า จะต้องรอให้หลักเกณฑ์ประกาศราชกิจจาฯ ก่อน เพราะขณะนี้อัยการสูงสุดเองก็ตั้งคณะทำงานตรวจสอบอยู่คณะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการอัยการในวันนี้ ไม่มีอนุกรรมการตรวจสอบ ส่วนที่อัยการสูงสุดตั้ง ก็ยังดำเนินการได้ แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คณะทำงานได้เสนอในวันนี้ อัยการสูงสุดอาจจะนำไปพิจารณาเพิ่มเติม

ตั้งกก.สอบ“เนตร”ไม่ได้อีก

นายอรรถพล ระบุด้วยว่า มติในวันนี้ถือว่าจบแล้ว เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้นก็ต้องเคารพ แต่หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้น หรือสอบสวนวินัย โดยปกติกรรมการที่มาตรวจสอบจะต้องเป็นข้าราชการอัยการ แต่ในวันนี้เป็นเพียงคณะอนุกรรมการที่เราเสนอจากอดีตรองอัยการสูงสุด แต่หากระเบียบที่กำลังเตรียมจะประกาศราชกิจจาฯ ออกมาแล้ว ก็จะให้มีการตั้งสอบชั้นต้น เว้นแต่คณะกรรมการที่อัยการสูงสุดตั้งในปัจจุบันจะมีความเห็นว่า การกระทำของนายเนตรไม่มีความผิดเลย ถึงตอนนั้นต้องไปดูอีกว่า เราจะตรวจสอบได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัยการที่มีความเห็นให้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบนายเนตรจำนวน 5 เสียง ประกอบด้วย นายอรรถพล ประธาน กอ. นายชาติพงษ์ จิระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ นายไพรัตน วรปาณิ ก.อ.(ภายนอก) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี และนายชาตรี สุวรรณิน ผู้ตรวจการอัยการ

ตร.ชงหมายจับ“บอส”คดีเสพโคเคน

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีอื่นๆ ของนายวรยุทธ ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า คณะพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว โดยจะขอศาลอนุมัติออกหมายจับนายวรยุทธในข้อหาเสพสารเสพติดประเภท 2 หรือโคเคน ภายหลังได้นำสำนวนคดีมาพิจารณาประกอบกับข้อมูลการตรวจพิสูจน์สารเคมีจากผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม

พร้อมกันนี้จะต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่านายวรยุทธ ได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยแล้วหรือไม่ เพื่อจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

โดยภายในสัปดาห์นี้ พนักงานสอบสวนจะเรียกสอบปากคำพยาน 3 ปากที่เกี่ยวข้องในประเด็นความเร็วรถ ได้แก่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และนายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตอบรับแล้ว แต่หากไม่สามารถดำเนินการเสร็จตามกำหนดของอัยการ ก็จะทำเรื่องขอขยายเวลาสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง

เผยเหตุขอเพิ่ม7วันพบทำผิดซ้ำ

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)ในฐานะรองประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ กล่าวว่า คณะกรรมการได้เสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขอขยายเวลาการตรวจสอบ ซึ่งจะครบกำหนดวันนี้ไปอีก 7 วัน เนื่องจากมีเรื่องต้องตรวจสอบจำนวนมาก จนทำไม่ทัน โดยเฉพาะเรื่องความผิดวินัย

“บางคนทำผิดหลายอย่าง บางคนก็ทำผิดอย่างเดียว ซึ่งพบว่ามีความซ้ำซ้อนและบางคนที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว ก็ยังมาทำผิดซ้ำอีก”

นอกจากนั้นช่วงที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว เมื่อคณะกรรมการ มาตรวจสอบก็พบความผิดที่ยังไม่ส่งไปที่ ป.ป.ช.อีกจึงต้องรวบรวมให้ครบถ้วน ส่วนใครจะมีความผิดข้อหาอะไรบ้าง ทาง ผบ.ตร. จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอีกครั้ง รวมถึงการทำเรื่องส่งเอกสารไปที่อัยการสูงสุดที่ต้องใช้เวลาด้วย

“วิชา”ห่วง“ธนสิทธิ์”ถูกกดดัน

ด้านนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีบอส ที่นายกฯแต่งตั้ง ได้เชิญ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลด้วย

โดยนายวิชา เปิดเผยหลังสอบข้อเท็จจริงว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ถือเป็นพยานที่มีน้ำหนักทำให้รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ จาก 177 เป็น 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนเพียงครั้งเดียว คือในวันที่ 26 ก.พ. 2559 และยืนยันว่าไม่ได้เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าพนักงานสอบสวนในวันที่ 2 มี.ค.2558 ตามที่ถูกกล่าวอ้าง

นอกจากนี้พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ชี้แจงว่า ไม่ทราบว่านายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบและการผลิตยานยนต์ เข้ามาได้อย่างไร ทราบว่าเพียงเป็นผู้ทำข้อมูลในคดีนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง (นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีการออกหมายจับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์) จึงทำให้เชื่อถือในข้อมูล แต่เมื่อกลับมาทบทวน และเชื่อว่าไม่ถูกต้อง จึงพยายามเปลี่ยนแปลงข้อมูลกลับไปอยู่ที่ 177 กม./ชม.

“แต่ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.จร. บช.น. อ้างว่าทำคดีอื่นซับซ้อน จึงทำให้เกิดความสับสน จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ยอมรับว่า กังวลเรื่องของความปลอดภัย โดยอ้างว่ามีบุคคลติดตาม และถูกกดดัน แต่ไม่ได้ตอบตรงๆ ว่าถูกใครกดดัน เพียงแต่บอกว่า คนที่พานายสายประสิทธิ์มาคือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ดังนั้นคณะกรรมการฯจะเชิญ พล.ต.อ.สมยศ มาให้ข้อมูลในวันที่ 20 ส.ค.เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาคารเทเวศร์ รวมถึงเชิญอัยการสูงสุดด้วย

เรียกผบก.กองตปท.แจงหมายแดง

ส่วนจะต้องเชิญ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่ถูกกล่าวอ้างในรายงานเข้าชี้แจงด้วยหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะวันนี้ชี้แจงแล้วว่า ใช้เพียงห้องทำงานของ พล.ต.ท.มนู เท่านั้น โดยจะตรวจสอบว่าในการทำสำนวนนั้นมีใครเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ

ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบฝ่ายตำรวจจะเชิญผู้บังคับการกองต่างประเทศ ที่รับผิดชอบการออกหมายแดง (อินเตอร์โพล)และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาให้ข้อมูลในวันที่ 20 ส.ค. รวมถึงเชิญตำรวจที่เชียงใหม่ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง และการชันสูตรพลิกศพด้วย