‘อัยการ-ศาล’ กับการปกป้องจำเลย

‘อัยการ-ศาล’ กับการปกป้องจำเลย

ทำความรู้จัก "อัยการ-ศาล" หนึ่งในบทบาทสำคัญของกระบวนการบุติธรรม ที่สร้างความสมดุลของอำนาจภายในรัฐบาล และให้ความมั่นใจแก่ประชาชน กับบทบาทงานยุติธรรม รวมถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล

ครั้งก่อนพูดถึงการปฏิรูปงานตำรวจไปแล้ว ในครั้งนี้คงพูดถึงงานในกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อมา คืองานอัยการ งานศาล และผู้ปกป้องจำเลย

   

  • งานยุติธรรมชั้นอัยการ

งานอัยการก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของรัฐ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทเฉพาะด้าน และเป็นบทบาทที่มีเอกภาพเฉพาะตัวในกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอัยการนั้น คือผู้แทนของรัฐ รับบทบาทเป็นตัวแทน หรือเป็นผู้แทนของประชาชนในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในลำดับของการตัดสิน และพิพากษาโดยองค์กรตุลาการ

อัยการมีบทบาทที่แตกต่างไปจากทนายจำเลย ผู้ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ปกป้องบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม อัยการนั้นมีพันธกรณีที่จะต้องยึดถือหลักนิติธรรม เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 

การไม่ปฏิบัติตาม หรือทำให้เกิดความผิดปกติในการยุติธรรม จะทำให้กระบวนการต้องเสียความ น่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ความมีศักดิ์ศรี และความศักดิ์สิทธิ์ นอกไปจากนั้นก็ยังถือเป็นการล่วงละเมิดความไว้วางใจของประชาชน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่อัยการต้องคุ้มครอง สิทธิในการได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นธรรม หรือที่เรียกกันว่า “right to a fair trial” ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม

  • กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล

ศาลหรือตุลาการ เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุลของอำนาจภายในรัฐบาล และ ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนหรือสาธารณะ (รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือ) ศาล คือองค์กรที่ทำให้เกิด และคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะการที่ประชาชน หรือบุคคลใดจะต้องได้รับการพิจารณา โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย มีความเป็นอิสระและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นหลักการที่บรรจุไว้ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล มาตรา 10 และยังมีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่ง และการเมืองมาตรา 14 และสนธิสัญญา ในภูมิภาคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

เรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อมีสนธิสัญญาหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นอิสระของศาลแล้ว ย่อมหมายความว่า บรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะต้องยอมรับว่า บทบาทสำคัญและที่ศาลจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง คือความมีอำนาจเป็นอิสระ จะต้องใช้อำนาจ หรือบางทีก็เรียกว่าดุลพินิจ โดยปราศจากความลำเอียง ในการที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในปี 1985 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติยอมรับร่วมกันว่า กระบวนการในชั้นศาลนั้นจะต้องได้รับ การปกป้อง บนพื้นฐานของหลักการที่ว่าด้วย ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ กระบวนการนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องยอมรับ และบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน และในทางปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน หลักการนั้นก็คือ

ประการ ที่ 1 อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ

ประการที่ 2 จะต้องคุ้มครองเสรีภาพในเรื่องของการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และเปิดเผย

ประการ ที่ 3 คุณสมบัติและการสรรหา หรือการคัดเลือก ฝึกฝน รวมไปถึงการกำหนด เงื่อนไขของการให้บริการหรือการจ้างตุลาการ อายุในการทำงาน การสร้างวินัย การปลดออก หรือ พักการทำงาน ต้องมีความชัดเจน และอยู่ภายใต้กติกา และกรอบที่ยอมรับกันเป็นสากล

  • การป้องกันตัวจากการกล่าวหา และการพิจารณาตัดสิน

ในปัจจุบัน การมีสิทธิในการได้รับการปกป้อง ป้องกัน ต่อสู้แทนโดยนักกฎหมาย หรือทนายความ ที่ได้รับการมอบหมายเพื่อการช่วยเหลือทางกฎหมาย ถือเป็นเรื่องจำเป็นของกระบวนการยุติธรรม กรณีนี้ สนธิสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ยอมรับหลักการเอาไว้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพและเสรีภาพของประชาชน และเรื่องสิทธินี้รัฐบาลมักจะเป็นผู้ทำการละเมิดเสียเอง 

ดังนั้น บุคคลควรได้รับสิทธิในเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่า พนักงานของรัฐจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย และโดยไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรม 

ในการประชุมของสหประชาชาติจึงได้กำหนดหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติในเรื่องบทบาทของนักกฎหมายไว้ ทำให้เกิดหลักเกณฑ์ว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้อง การช่วยเหลือจากทนายความ หรือผู้ปกป้องทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และป้องกันเขาเหล่านั้น ในทุกระยะของกระบวนการยุติธรรม หลักการพื้นฐานยังกำหนดให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ มีหน้าที่ และสร้างนักวิชาชีพกฎหมายที่สามารถคุ้มครองบุคคลทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือมีภูมิหลังเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิและความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายนั่นเอง