ทดสอบวิกฤติแบงก์ ”ลุ้น” ปันผล KKP-TISCO ขึ้นนำพร้อมจ่าย

ทดสอบวิกฤติแบงก์ ”ลุ้น” ปันผล  KKP-TISCO ขึ้นนำพร้อมจ่าย

ฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยถือได้ว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับวิกฤติที่ผ่านมา สะท้อนผ่านตัวเลขในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ถือว่าเป็นช่วงจุดต่ำสุดที่มองกันจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด -19 จนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ตามมา

ตัวเลขดังกล่าวทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานสิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ระบุว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง จากระดับเงินกองทุนหรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง หรือ อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)

เงินกองทุนอยู่ที่ 2,877,000 ล้านบาท หรือ 19.2 % จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 18.7 % ส่วนเงินสำรองอยู่ที่ 743,000 ล้านบาท หรือ 144.1 % จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 143.3 % และจากตัวเลขดังกล่าวส่งผลทำให้เริ่มมองว่าเป็นโอกาสดีหรือไม่ที่ ธปท. จะเริ่มผ่อนคลายธนาคารพาณิชย์ลง

ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และ งดซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนซึ่งถือว่าเป็นกันชน ให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น

ที่สำคัญแผนบริหารดังกล่าวจะต้องรองรับในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก และที่สำคัญเงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด- 19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่

ดังนั้นจึงเป็นที่มาทำให้ธนาคารพาณิชย์ถูกเข้มงวดในการบริหารจัดการฐานะเงินกองทุนและเงินสำรองมากขึ้น ส่งผลทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารตอบรับในเชิงลบช่วงนั้นทันที ประกอบกับผลประกอบการที่คาดเดาไม่ยากว่ากำไรที่ออกมาแย่ ซึ่งตัวเลขที่ออกมากำไรไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 31,000 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 52,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อตัวเลขฐานะการเงินกลุ่มแบงก์ออกมามีความเข้มแข็ง แต่อาจจะยังไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่จะผ่อนคลายคุมเข้มเงินกองทุน และให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินที่ควรกันไว้เป็นกระสุนไปใช้ อย่างการจ่ายเงินปันผล

จากมาตรฐานระดับเงินกองทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% แต่พยายามให้ขึ้นมาอยู่ที่ 11.5-12.5% และในยิ่งช่วงเวลาที่ไม่ปกติแบบนี้ตัวเลขดังกล่าวดูจะไม่เพียงพอจนต้องเพิ่มและรักษาระดับดังกล่าวเอาไว้  และเป็นที่มาทำให้ ธปท. ต้องการรอดูผลผลทดสอบดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤติ Stress Test ของเดือน ต.ค.นี้ ว่าเหมาะสมเพียงพอรองรับไม่ต่ำกว่า 2 ปีหรือไม่ ซึ่งนั้นอาจจะเป็นการส่งสัญญาณกลายๆด้วยว่า วิกฤติรอบนี้กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้กินระยะเวลานานกว่าที่คิด

ในมุมองด้านการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เชื่อว่าแต่ละแบงก์จะกลับมาจ่ายเงินปันผลงวดปี 2563 ได้อย่างน้อยที่ระดับต่ำสุดของ % อัตราการจ่ายปันผล โดยได้ทำสถานการณ์เพื่อดูว่าธนาคารไหนจะมีอัตราการจ่ายปันผลสูงที่สุด พบว่าธนาคารขนาดเล็กมีโอกาสมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่

ประกอบไปด้วยธนาคาเกียรตินาคิน ( KKP) และ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเซียล ( TISCO) มี อัตราปันผลสูงที่สุด 6% และ 5% ตามลำดับ ส่วนธนาคารขนาดใหญ่คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ 5%

ส่วนประเด็นเรื่องต่ออายุ debt holiday ทาง ธปท. ไม่ได้มีการบังคับให้ใช้เหมือนรอบก่อน มองว่าเป็นผลดีระยะยาวต่อกลุ่มธนาคาร โดยคาดว่า แต่ละธนาคารจะจัดการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเพื่อลดการเร่งตัวของ NPLs หลังหมดมาตรการในช่วงเดือน ต.ค. นี้ได้

ทั้งนี้ยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” ชอบ ธนาคารกรุงเทพ ( BBL) ราคาเป้าหมาย 120 บาท เพราะเป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงในการตั้งสำรองฯน้อยที่สุด และมี coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่มที่ 171% ซึ่งเป็นระดับที่รองรับความเสี่ยงในอนาคตได้ดีที่สุด