'ปลดแอก' ถึง 'ชูสามนิ้ว' ในโรงเรียน เมื่อเด็กสะท้อนเสียงถึงผู้ใหญ่

'ปลดแอก' ถึง 'ชูสามนิ้ว' ในโรงเรียน เมื่อเด็กสะท้อนเสียงถึงผู้ใหญ่

จากการชุมนุม "ปลดแอก" ถึงกระแส "ชูสามนิ้ว" ในโรงเรียน จับตาสารที่ซ่อนอยู่ในเสียงจากเด็กๆ ถึงผู้ใหญ่ ในวันที่ประชาธิปไตยของไทยกำลังถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

"ไม่มีการทำรัฐประหาร" และ "ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ" เป็นอีก 2 ข้อเรียกร้องที่เพิ่มเข้ามาหลังจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมานอกเหนือจากการยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่แรก คือ 

หยุดคุกคามประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

และยุบสภา

นอกจากการผลัดเปลี่ยนกันแลกเปลี่ยนความเห็นถึงสิทธิเสรีภาพ และความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ใต้เงาของประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับกิจกรรมที่สื่อสารตรงกับความสนใจของบรรดาแนวร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และเยาวชน แรงกระเพื่อมหลังจากการชุมนุมในวันนั้นก็เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเช้าของวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ปรากฏเหตุการณ์นักเรียนหลายโรงเรียน ทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว แสดงออกทางการเมืองเผยแพร่บนออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น  โรงเรียนหลายโรงในกรุงเทพมหานครที่มีการแชร์ต่อๆ กัน และคาดหมายว่าจะเป็นโรงเรียนมีชื่อในย่านต่างๆ ตลอดจน กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวอย่าง โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย และโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ขณะเดียวกัน ช่วงเช้าของวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ก็ปรากฏกระแสนักเรียนพร้อมใจ ชูสามนิ้ว ขณะเข้าแถว หลังเคารพธงชาติ พร้อมใช้ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์แสดงออกทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มเติมอีกหลายโรงเรียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

159774172963

  • ชูสามนิ้ว จาก ตัวละครเอกในภาพยนตร์ดังเรื่อง The Hunger Games แสดงออก เพื่อแสดงการต่อต้านผู้ที่มีอำนาจ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของ สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ
  • ริ้บบิ้นสีขาว สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยุติความรุนแรง ที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศแคนาดาในปี 1991 ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิง เป็นเหตุให้นักศึกษาชายกว่าแสนคน ออกมาเรียกร้องปัญหาในการใช้ความรุนแรงกับสตรี โดยการติดริบบิ้นสีขาวไว้ที่ปกเสื้อ 

หากไม่นับความเห็นของสังคมที่เริ่มมองเห็นการเลือกข้าง และแบ่งฝ่ายจนหลายครั้งทำท่าจะเดินไปสู่วังวนความขัดแย้งที่ซ้ำรอยการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา สาระสำคัญ หรือนัยยะที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กำลังบอกอะไรกับสังคมไทย?

159774652532

"โกรธ" และ "ทนไม่ได้" มักเป็นเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมกับการชุมนุมในนามประชาชนปลดแอก พวกเขาต่างรู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะ "สังคมสงบสุขที่ซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม" สิทธิเสรีภาพที่เป็นเหมือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคมที่กลายเป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

“คำว่าประชาธิปไตยสำหรับเรา ที่เราเรียกร้อง มันไม่ได้เป็นนามธรรมเลย มันจับต้องได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับเรา ภาษีที่เราเสียจะคืนกลับมาเป็นสิ่งที่คุณไม่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมชีวิตต้องมาเจออะไรแบบนี้” อลินลดา หนึ่งในคนที่เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมาให้ความเห็นถึงปัญหาคุณภาพชีวิต ทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนดี ทางเท้าเรียบ หรือเรื่องของรัฐสวัสดิการ ทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้นที่คำว่าประชาธิปไตยทั้งนั้น

"ประชาธิปไตยทำให้เราสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส่ในการใช้ภาษีได้ สุดท้ายแล้วมันก็คืนกลับมาที่ตัวเรา"

ด้าน สุพัตรา ตัวแทนผู้ร่วมชุมนุมอีกคนหนึ่งมองว่า วงจรการเมืองไทยมักวนลูป และไปบรรจบที่รัฐประหาร อย่างหลายครั้งที่ยุบสภา ก็เพราะม็อบการเมืองยื่นข้อเรียกร้องให้ยุบสภา ซึ่งเกิดมากจากการขัดแย้งผลประโยชน์ภายใน และภายนอก ถึงเวลาที่ต้องหาความชัดเจนในการก้าวต่อไปข้างหน้า

"เด็กคือหนึ่งในประชาชนที่เขาควรฟังเเล้วเอาความคิดของเราไปเถียงกันในสภาเพื่อพัฒนาประเทศให้ดีกว่าเดิม" ใครบางคนเสริม

แน่นอนว่า แรงกระเพื่อมนี้ส่งผลไปยังการแสดงออกของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หลายฝ่ายต่างมองตรงกันว่าจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ รวมทั้งท่าที และประเด็นของการเคลื่อนไหวที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น

159774649342

ด้านฝ่ายความมั่นคง ประเมินถึงท่าทีการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อลดแรงต้าน หันมากดดันให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะมีฝ่ายการเมืองที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะเกณฑ์เวลานัดหมายการชุมนุมครั้งต่อไป ในเดือนกันยายนนั้น จะเป็นช่วงที่มาตรการความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาลหมดลงทุกมาตรการ จึงมีแนวโน้มที่กลุ่มคนตกงาน และผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จะผสมโรงออกมาร่วมด้วย

ขณะที่ ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาให้สัมภาษณ์กับเนชั่นสุดสัปดาห์ถึง การวางยุทธศาสตร์การชุมนุมของ กลุ่มประชาชนปลดแอก ล่าสุดแล้ว น่าจะมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในลักษณะ “กินทีละคำ” คือ เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งน่าจะตรงกับบุคลิกภาพของสังคมไทยมากกว่า

"ยุทธศาสตร์กินทีละคำ หมายถึงว่า ท้ายสุดแล้วฝ่ายต้านรัฐบาลจะเลือกวิถีทางประนีประนอมในระดับหนึ่ง เริ่มจากการให้บางม็อบส่งข้อเสนอสุดโต่งเรื่องสถาบัน จากนั้นก็ให้บางม็อบถอยมายืนยัน 3 ข้อเรียกร้องแรก (แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา-ลาออก หยุดคุกคาม) เมื่อรัฐบาลตอบรับข้อเสนอเรื่องสถาบันไม่ได้ ก็ต้องยอมประนีประนอมมาดำเนินการเรื่องข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักของผู้ชุมนุม คือต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่" ผศ.ดร.เชษฐา อธิบาย

อย่างไรก็ตาม จากการปลดแอกบนถนนราชดำเนิน สู่การชูสามนิ้วในรั้วโรงเรียน ที่ดูเป็นแรงหนุนนำที่ยึดโยงกันเอาไว้อย่างแนบแน่น จนกลายเป็นกระแสที่สังคมต้องหันมองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้

ไม่ว่าหน้าไพ่ของสถานการณ์จะถูกจัดวาง และเปลี่ยนผ่านไปในทางใด แต่ความจริงส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธความรู้สึก หรือการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ได้ว่า พวกเขาต้องการมองเห็นทิศทางของประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

"เราหวังเป็นอย่างมากในการชุมนุมครั้งนี้ คือ การได้รับประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่เอาประชาธิปไตยครึ่งใบหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะไม่งั้นสิ่งที่เราชุมนุมไป มันคงวนลูปกลับไปเป็นแบบเดิมไม่จบไม่สิ้นเสียที" ใครบางคนยืนยันในเจตนา

159774654493