"ปลดแอก"ต้องไม่"ปลดความเข้าใจ"ในครอบครัว

"ปลดแอก"ต้องไม่"ปลดความเข้าใจ"ในครอบครัว

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ และไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในบ้านเดียวกันจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน การชุมนุมของม็อบเยาวชนปลดแอก ก็เป็นไปได้ที่คนในบ้านจะมีความเห็นต่าง เหนืออื่นใด “แม้เห็นต่างต้องอยู่ร่วมกันได้"

12 คำแนะนำสำหรับพ่อแม่

       หมอโอ๋ หรือ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เขียนเรื่อง #เมื่อเราและลูกเห็นต่างทางการเมือง ไว้ในเฟซบุ๊คเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ใจความว่า คลินิกวัยรุ่นของหมอ เริ่มมีพ่อแม่มาบ่นกลุ้มใจที่ลูกเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องของการเมือง “ห้ามก็ไม่ฟัง นี่ขู่ตัดแม่ตัดลูกไปละ”“ส่งเสียเรียนมาขนาดนี้ ยังโง่ให้เค้าจูงจมูก”“หมอคุยกับมันให้หน่อย ว่าไม่ให้เข้าไปยุ่งกับอะไรพวกนี้” 

      หมอมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ดังนี้นะคะ
1. ให้ดีใจที่ลูกมองว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ประเทศจะไม่พัฒนาด้วยวัยรุ่นที่มองแต่ปัญหาของตัวเอง
2. จงเชื่อมั่นว่าวัยรุ่นที่ “ตั้งคำถาม” นำมาซึ่งความงอกงามเสมอ
3. หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดตัดสิน ดูถูก บั่นทอนคุณค่า “โง่” “อุตส่าห์เรียนสูง” “ให้เค้าจูงจมูก” เพราะนั่นไม่ได้ทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสันติ
4. “รับฟัง” แบบเปิดใจไม่รีบตัดสิน ลูกรู้สึกอะไร อึดอัดอะไร มีความต้องการอะไร ให้คุณค่ากับอะไร ทำไมถึงคิดหรือเชื่อสิ่งนั้น ฟัง... ด้วยความต้องการที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อสั่งสอน
5. เคารพการให้ “คุณค่า” ในสิ่งที่แตกต่าง (สมัยพ่อแม่อาจให้คุณค่าเรื่องการไม่ตั้งคำถามกับคนที่เคารพหรือมีอำนาจ เด็กสมัยนี้ให้คุณค่ากับสิทธิความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม)
6. ตั้งคำถามกับสิ่งที่ลูกให้คุณค่า (เราอาจพบว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน) บอกลูกได้ ถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า และที่มาของความเชื่อนั้น 

7.อย่ารีบปักใจว่าลูกโง่ เด็กสมัยนี้โตมากับความรู้มหาศาล ให้สงสัยความไม่รู้ของตัวเองอยู่ด้วยเสมอ
8. สอนลูกตั้งคำถาม กับสิ่งที่ลูกเชื่อหรือถูกบอกมา อันไหนจริง อันไหนใช่ เพราะอะไรถึงเชื่อสิ่งนั้น ช่วยลูกฝึกการวิเคราะห์แยกแยะ
9. การที่วัยรุ่นลงมือลงแรงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เชื่อมั่น นั่นคือพลังงานของวัยหนุ่มสาว ที่เราควรรักษาไว้
10. สอนลูกเรื่อง การเรียกร้องสิทธิ ไม่ควรกระทำโดยการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
11. สอนลูก(และตัวเอง) ว่าการใช้ hate speech สร้างความเกลียดชัง หรือการสร้างภาพเลวร้ายให้ตัวบุคคล อาจไม่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ตนต้องการ
12. อธิบายลูกว่าความรักความศรัทธาของคนหลายคน อาจไม่ต้องมีเหตุผล แต่เป็นเรื่องที่เราควรให้คุณค่า อย่าทำลายหรือดูถูกความศรัทธาของผู้อื่น

    หมอเชื่อว่าความขัดแย้ง การตั้งคำถาม นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเสมอ  การรับฟัง สร้างพื้นที่ปลอดภัย โอบกอดความเห็นต่างด้วยความเข้าใจ การหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง น่าจะเป็นทางออกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สุดท้าย ถ้าเข้าใจและเห็นด้วยในสิ่งที่ลูกเชื่อมั่น “จงเป็นพลังให้พวกเขา”
     ถ้าลูกยืนยันจะไปม๊อบ ก็เตรียมแมสก์ แอลกอฮอล์ ร่มกันฝน และเงินประกันตัว ถ้าไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกเชื่อมั่น แต่ก็ห้ามมันไม่ได้ ก็ช่วยเตรียมแมสก์ แอลกอฮอล์ ร่มกันฝน
      แต่บอกลูกได้ว่า พ่อแม่จะมีขอบเขตการช่วยเหลืออยู่แค่ไหน ลูกต้องตัดสินใจ เรียนรู้ และรับผิดชอบกับทางเลือกของตัวเอง และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อยากให้กอดลูกและบอกตัวเองว่า “โลกข้างหน้า คือโลกที่เป็นของลูก”

จิตแพทย์ชี้ต้องยอมรับความเห็นต่างกันและกัน

    ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ตามสิทธิ์ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องถูกหรือผิด หรือพยายามกดดันเด็กไม่ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องปลอดการเมือง แต่ อยากให้มองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก ที่เยาวชนผู้มีความรับผิดชอบ ต่อสังคม รักประเทศชาติได้มาแสดงออก ซึ่งความจริงหากโรงเรียนมีพื้น หรือ มีกิจกรรมนอกเวลาเรียนให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดเห็น ถกปัญหา ชี้แจงในสิ่งที่เรียกร้อง ว่า มีประโยชน์ หรือ ดีอย่างไร ให้เกิดการรับฟัง ก็ไม่จำเป็นต้องมาแสดงในเวลาเคารพธงชาติ เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ และควรถือเป็นตัวอย่างของการแสดงความคิดเห็นที่เสรี และ รับฟังตามระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างทุกความคิดเห็น ไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เชื่อว่าเมื่อมีการอธิบายถึงเหตุและผล การเคารพบรรทัดฐานทางสังคม เด็กเหล่านี้ซึ่งมีภาวะเหมือนผู้ใหญ่จะมีความเข้าใจ 

ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเปิดกว้าง ยอมรับความเห็นต่าง ไม่แตกคนดี และเลว นี่คือโอกาส ที่จะเป็นการทดสอบความเป็นประชาธิปไตย และผู้ใหญ่ไม่ควรมองว่าไม่รักชาติ หรือเป็นความผิด เพราะเด็กเหล่านี้เป็นแค่เยาวชน ไม่มีอำนาจในมือ ตรงกันข้ามคนมีอำนาจต้องรับฟังความตัวเล็ก และ คนมีอำนาจต้องระวังการใช้อำนาจของตนเอง ควบคุมตัวเอง ไม่ใช้วาทกรรมเกลียดชัง เช่น ชังชาติ ไม่รักชาติ หากคนมีอำนาจเป็นฝ่ายยอมเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น แต่ต้องยอมรับ ปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ไขในวันเดียว ขณะเดียวกันในสังคม ควรถือเป็นโอกาสของการพัฒนา ที่ไหนไม่มีความเห็นต่างที่นั่นยอมไม่มีทางเจริญหรือพัฒนาได้ 

“การใช้วาทกรรม ทั้งชังชาติ หรือ ไดโนเสาร์ ไม่ควรเกิดขึ้น ทุกคนเห็นต่างต้องสามารถรับฟังกัน จึงเป็นสังคมประชาธิปไตย บทบาทของพ่อแม่หรือสังคมในครอบครัว ไม่ควรจุดประเด็นว่า ถ้ามีความคิดแบบนี้จะไม่มีงานทำในสังคม จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า จะกลายเป็นการใช้ความเกลียดชัง ตรงกันข้าม พ่อแม่ต้องประคับประคอง และพูดคุยแลกเปลี่ยนความสงสัยหรือความคิดที่เกิดขึ้น”นพ.ยงยุทธกล่าว

       การประคับประคองสังคมที่ดีที่สุด คือ 1. ต้องไม่มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นการจัดตั้ง 2.ข้อเสนอของเยาวชนมีผลต่อสังคมอย่างไร 3.ต้องให้เหตุผลและทางออก และ 4. ต้องคิดเสมอ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงหมด ต้องอยู่ระหว่าง 2 ขั้วให้ได้