ถอดหัวใจนักเศรษฐศาสตร์ แห่ง กสทช. ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

 ถอดหัวใจนักเศรษฐศาสตร์ แห่ง กสทช. ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

บทบาทและหน้าที่ของหนึ่งในคณะกรรมการ 'กสทช.' 'ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นนท์' แม้ใกล้หมดวาระในปลายปี 2563 แต่ขอฝากแง่คิดและส่งไม้ต่อ กับภาระที่ กสทช.ต้องเดินหน้าต่อ...

กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มี ‘หน้าที่และ อำนาจกำกับและจัดการดูแลกิจการเกี่ยวกับการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวด้านการสื่อสารมากล้น โดยเฉพาะโลกยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งมาเร็วไปเร็วจนมนุษย์ยุคใหม่ก็ตั้งหลักแทบไม่ทัน

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่รับหน้าที่ กรรมการ กสทช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า อุปสรรคและภาระที่ กสทช. ต้องก้าวข้ามในยุคที่ทุกอย่างอยู่บน คลื่นคนไทยจะฝ่าคลื่นดิจิทัล ไปถึงฝั่งอย่างราบเรียบ ได้แค่ไหน

ภาพรวมการทำงานของบอร์ด กสทช.

บอร์ดของ กสทช. จะไม่เหมือนคณะทำงานในรัฐวิสาหกิจทั่วไป อย่างบอร์ดการบินไทยเป็นบอร์ดนโยบาย แต่ กสทช. เป็นกรรมการที่ฝรั่งเรียกว่า Commissioner ที่เป็นการลงรายละเอียดในการทำงานมากกว่าการบริหาร การกำหนดนโยบายในบอร์ดทั่วไปเรียกว่าผู้จัดการใหญ่ หรือเลขาสภาพัฒน์ฯ แต่บอร์ดของ กสทช. ไม่ใช่ลักษณะนั้น เรากำหนดนโยบายและเข้าไปทำงานด้วย มีรายละเอียดต่าง ๆ ต้องดูหมด มีทีมงานศึกษางาน การตัดสินใจ การขอใบอนุญาต เปิดวิทยุ ขอปิดใบอนุญาต ต้องลงมติ ฯลฯ เป็นงานบริหารซึ่งแบ่งการทำงานเป็นกลุ่มต่าง ๆ

 

งานที่กำกับดูแลมีอะไรบ้าง

กรรมการ กสทช. มี 6 คน ที่เรียกว่าเป็น Commisioner  เป็นคอนเวอร์เจนซ์บอร์ด สมัยก่อนแยกพวกทีวี ดาวเทียม เคเบิ้ล โทรคมนาคม พวกมือถือ อินเตอร์เนท ไวไฟ เมื่อก่อนกฎหมายให้รวมไม่ให้แยก เราก็ลงมติ สมัยนั้นข้อดีคือเมื่อเทคโนโลยีมันแยกไม่ได้ คำว่ากระจายเสียงคืออะไร แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกระจายเสียงหมด เฟซบุ๊ค ยูทูบ เป็นบอร์ดแคสติ้งหมด ไม่แยกอย่างแต่ก่อนแล้ว เรียกว่า One to Many ปัจจุบันไม่มีความหมายแล้ว เพราะลงยูทูบหรือไลน์ทีหนึ่งก็สื่อออกไปหมดแล้ว ก็เลยเลิกคิดแบบนั้น พอเวลาผ่านไป กสทช. ดูการกระจายเสียงที่กล่าวถึงทั้งหมด แต่ที่ไม่ดูคือออนไลน์ โดยมีกระทรวงดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) รัฐมนตรีดีอี ท่านดูแลอยู่

 

เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น การกระจายภาพและเสียงก็แยกกันไม่ออกแล้ว

ใช่ครับ เนื้อหาต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ตอนนี้มันยุ่งไปหมด ถ้าเอามิติเรื่องการแข่งขันคือการกระทบต่อธุรกิจ เช่น กิจการกระจายเสียงกระจายภาพ ดูกว้าง ๆ สื่อเอาไปออกในออนไลน์ เช่น Netflix หรือค่ายสตรีมมิ่งอื่น แย่ง eye ball หนังก็มีเหมือนกัน เมื่อมีทีวีดิจิทัล กดอีกทีสตรีมมิ่งก็มา คือมันเบลอหมดแล้ว มีเดียต่าง ๆ หนังสือพิมพ์มีผลกระทบมาก เราทำข่าวเป็นกระดาษไปช้าเพราะออนไลน์ออก 24 ชั่วโมง มีเดียก็ต้องปรับตัว วิเคราะห์กันใหม่ เป็นต้น เราก็ดูผลกระทบจากมิติที่กระทรวงดีอีดูด้วย เช่น ออนไลน์มาทำให้ทีวีดิจิทัลกระทบมาก นอกจากนี้เราก็ดูในแง่การแข่งขันทางอุตสาหกรรมการกระจายเสียงและการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

 

บอร์ดใหม่ที่จะเข้าในวาระหน้านี้ ควรมีคุณสมบัติอย่างไร

มี 3 คีย์หลัก ๆ คือความรู้ ด้านเศรษฐศาสตร์ กฏหมาย และเทคโนโลยี และต้องมีคุณสมบัติสำคัญอีกอย่างคือ เรียนรู้ สนใจเรื่องใหม่ ๆ สำหรับผมไม่ได้ถึงกับเชี่ยวชาญด้านนี้แต่เข้าใจเนทเวิร์ค สนใจเรื่องโทรคมนาคม แล้วพอเข้าไปทำงานเราต้องศึกษา อ่าน ฟัง ต้องเรียนรู้เร็ว เพราะไม่ใช่เรื่องมิติทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่มีเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวข้อง ต้องเข้าใจหมดเลย การออกอากาศ ส่งสัญญาณ ดาวเทียมทำงานยังไง ต้องไปลงพื้นที่ ไปเห็นการับส่งยังไง มือถือทำงานยังไง ต้องไปดู อย่าหยุดเรียนรู้ สำคัญมาก

ต้องใฝ่เรียนรู้อย่างมาก เพราะการทำงานใน กสทช. มีทั้งเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ธุรกิจ ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้อย่างกระตือรือร้น เพราะต้องตัดสินใจ ถ้าตัดสินอะไรไปผิด ๆ ถูก ๆ ผลกระทบคือประชาชน จะวุ่นวายไปหมด

อีกอย่างคือมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมเพราะเกี่ยวข้องกับเทคนิค เช่น การออกอากาศคู่ขนานของช่อง 3 ที่ผ่านมา เราต้องอธิบายได้ว่าระบบทำงานอย่างไร เรื่องเรตติ้งอีก ทำไมต้องมีนีลเส็น (บริษัทสำรวจความนิยม เอซี นีลเส็น) คนก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเกี่ยวกับโฆษณาอย่างเดียว เราบอกว่าไม่ใช่ โทรทัศน์เป็นวันเวย์ ยิงไปไม่รู้เลยว่าคนดูหรือไม่ดู แต่พอเป็นออนไลน์อย่าง Netflix ระบบสมาชิก พอกดดูรู้เลยว่าคนนี้ชอบดูหนังประเภทไหน กดไปเอไอทำงานเลย คนนี้ชอบดูหนังสยองขวัญ คนนี้ดูตลก แต่บอร์ดแคสติ้งจะไม่รู้ การสำรวจความนิยมเพื่อจะได้ไปปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้น

159772429613

 

โครงการที่ดูแลในฐานะกรรมการ กสทช. การอบรมสื่อในยุคดิจิทัล ยังไปต่อ

ครับ โครงการฝึกอบรมการผลิตและการนำเสนอข่าวยุคดิจิทัล ล่าสุดเพิ่งจัดอบรมไปเมื่อวันที่ 29-31 ที่อุบลราชธานี ชื่อโครงการ “การผลิตและนำเสนอข่าวสารยุคดิจิทัล” การอบรมสื่อทำมานานแล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามาเมื่อปี 54 เจอน้ำท่วมพอดี ปลายปีก็เดินแจกของช่วยชาวบ้านน้ำท่วม โครงการนี้สืบเนื่องมาจากกรรมการบอร์ดมีหลายสำนัก เขาดูที่ความเชี่ยวชาญ เช่น ท่านนี้เก่งเทคนิคก็เข้าไปดูเรื่องเทคนิคการกระจายเสียง หรือเทคนิคต่าง ๆ อย่างผมมาสายเศรษฐศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษด้วยเลยมาดูแลเรื่องพัฒนาวิชาชีพสื่อ จัดอบรมในด้านต่าง ๆ เช่น วิทยุชุมชน ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงการเมือง

เราจัดอบรมทั่วประเทศ มีทั้งการละครและการข่าว เช่นให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบทจากเกาหลี ซีรีส์ “แดจังกึม” มา เพราะเกาหลีเขาเก่งเรื่องนี้มาก การเขียนบทเป็นจุดอ่อนของไทย เราก็เอาเขามาพูด มีผู้จัดละคร ผู้เขียนบทมาเรียนเยอะเลย ทำไป 3-4 รุ่นแล้ว เรื่องงานข่าวเราให้ทีวีบีบีซีมาอบรม การทำข่าวสืบสวนสอบสวน การหาข้อมูล ทำสตอรี่เรื่องให้รายการทีวี บางทีฝรั่งเขาก็มีความเป็นโปรเฟสชั่นแนลมากกว่า

วิทยุชุมชน ยุคแรก ๆ ที่มีนั้นมีกว่าหมื่นสถานี ตอนนี้เหลือประมาณสี่พันกว่า สมัยก่อนวิทยุเยอะมาก เป็นเรื่องการเมืองก็เยอะ ขายอาหาร-ยา ผิดกฎหมาย เนื่องจากชาวบ้านก็ไมรู้นะ สมัยนี้ยังมีเอาน้ำผลไม้ธรรมดามาปั่นขายกระป๋องละเป็นพัน กินแล้วรักษาทุกโรค เราก็ดูอยู่ ยุคก่อนโฆษณาว่ากินแล้วเดินได้เลยก็มี เราก็จัดอบรมไม่ใช่แค่เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ เราสอนเรื่องการบริหารสถานี บริการการเงิน จัดรายการให้สนุกทำอย่างไร พวกวิทยุเกิดใหม่สื่อเล็ก ๆ ทีวีเกิดใหม่ พอมีความรู้เรื่องการจัดการก็มีรายได้เข้ามา ไม่ต้องพึ่งนักการเมืองหรือไปขายยาที่ผิดกฎหมาย

กสทช.โดยสำนักพัฒนาองค์กรวิชาชีพและส่งเสริมการบริการอย่างทั่วถึง จัดอบรมภายใต้รูปแบบเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์เทคโนโลยีคือ “การผลิตและนำเสนอข่าวสารยุคดิจิทัล ครั้งที่ 1” ภาคอีสาน จังหวัดอุบลฯ และในเดือนกันยายนนี้ที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา เดือนตุลาคม ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และลำดับถัดไปคือภาคเหนือ จังหวัดน่าน

 

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวพันกันอย่างไร

เศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด โดยทั้งสองส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน การที่จะมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ดีต้องมีระบบนิเวศทางเศรษฐศาสตร์ที่ดี เหตุผลคือการพัฒนาเทคโนโลยีต้องการการสนับสนุนจากทรัพยากรเงินทุน และกรอบกฎหมายที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งประเทศที่มีระบบนิเวศเศรษฐศาสตร์ที่ดีจะมีความพร้อมมากกว่า ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันการที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและมีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพราะเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า ทั้งสองส่วนจึงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นไอดอล มีใครบ้าง

โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) ได้รางวัลโนเบลปี 2001 ผมไปเจอเขาในงานประชุมที่อิสตันบูล อีกคน แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker ได้รางวัลโนเบลปี 1992) แกรี่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Economics of Crime เศรษฐศาสตร์อาชญากรรม เช่น ทำไมอาชญากรรมมันเกิด แล้วจะลดการเกิดได้ยังไง มันมีต้นทุน มีผลประโยชน์เสียประโยชน์ยังไง มันเกี่ยวข้องกันหมด ยกตัวอย่างจะแก้ปัญหาคนทำน้ำเสีย คือไปเพิ่มโอกาสถูกจับ โรงงานไหนทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ไปปรับ แต่ถ้าเขามาให้เงินคุณให้ไปแจ้งว่าที่ไหนทิ้งของเสีย โอกาสถูกจับจะเพิ่มขึ้นมาก แต่คนที่ไปแฉก็รู้ว่ามีปัญหาไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ก็ต้องให้เงินเป็นการเพิ่มต้นทุน

อีกอย่างที่น่ากลัวทางเศรษฐศาสตร์คือ Sting Operation อยากจับโจรแต่หาหลักฐานไม่ได้ แต่ฝรั่งจะเตรียมหานกต่อไว้ เช่น แถวนี้โจรกระชากสร้อยเยอะ เขาก็หาสาว ๆ มาใส่สร้อยทอง ทำเป็นเมาหลับแล้วรอโจรมากระชากสร้อย ก็จับเลย มีกล้องจับไว้หมด ถ่ายวิดีโอไว้ แต่คนไทยไม่กล้า ผมเคยถามตำรวจไทยเขาบอกว่ากรณีอย่างนี้ใช้กับยาเสพติดเท่านั้น ยังมี Whistleblower คือสร้างแรงจูงใจให้คนไปแฉ ไปบอกตำรวจอย่างกรณีน้ำเสียแล้วมีคนมาแฉแอบถ่ายคลิปไว้ หรือจะจับมาเฟียตัวใหญ่เขาก็จับตัวเล็กก่อน เกิดขับรถไปชนใครพอจับได้ก็เจรจาต่อรอง ส่งตัวเล็กไปเจอเจ้าพ่อแล้วอัดเทปหรือถ่ายคลิปไว้ มีหลักฐานไปจับตัวพ่อได้ คนที่พาเจ้าหน้าที่ไปจับผู้ร้ายก็ได้ต่อรองไม่ถูกจับเข้าคุก แต่เมืองไทยทำไม่ได้ ตำรวจบอกคนผิดยังไงต้องจับไปรับโทษ

ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าไม่ต้องเพิ่มโทษแต่เพิ่มโอกาสในการถูกจับ เช่นเดียวกับทฤษฎีหน้าต่างแตก Broken Windows ที่เขาพบว่าอาชญากรรมจะเกิดพื้นที่ที่มีโอกาส คนทั่วไปเดินตามถนนถ้าไปในที่สวยงาม สะอาด เขาจะไม่ก่ออาชญากรรม ในขณะที่ถ้าเขาเดินไปในชุมชนที่ไม่ค่อยดีนัก ไม่เรียบร้อย โอกาสก่ออาชญากรรมจะสูงขึ้น หลักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า น้ำหนักของต้นทุนคืออะไร น้ำหนักของการลงโทษ ความถี่ในการถูกจับ เป็น Economics Thinking ถ้าต้องการแก้อาชญากรรมต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดวิเคราะห์แบบนี้ เป็นเศรษฐศาสตร์ไมโคร ต่างจากเศรษฐศาสตร์แมคโครที่เขาเรียนเรื่องวิเคราะห์การเงิน ทองจะขึ้น ดอลล่าร์จะลง แกรี่ อยู่ในกลุ่มไมโคร

 

คลื่นความถี่ 5 G มาแล้วเราต้องปรับตัวอย่างไร

ผมเข้ามาปลายปี 54 เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วจนน่ากลัว เราอยู่ตรงนี้แต่คนที่ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจก็มี เขาก็ดูทีวีเหมือนเดิม เรื่องเสาอากาศอาจไม่รู้แต่รู้ว่าทีวีเขาชัดขึ้น ไม่มีฝ้า ไม่ต้องเอาเสาบิดไปบิดมา เทคโนโลยี 5 G มีข้อดีเรื่องความเร็ว ประโยชน์เช่น เกิดเทเลเมดิซีน (Telemedicine) สะดวกและแม่นยำขึ้น เพราะทุกวันนี้การเดินทางเป็นต้นทุนที่สูงมาก มาหาหมอก็รอคิวนาน พวกเกมออนไลน์ก็จะไม่ดีเลย์ ระบบเซ็นเซอร์ โดรน รถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง การผ่าตัดทางการแพทย์ก็ถูกต้องแม่นยำขึ้นเนื่องจากแยกคลื่นได้ อุตสาหกรรมไอทีต่าง ๆ เครื่องที่เชื่อมกับอินเตอร์เนทใช้งานสะดวกรวดเร็วขึ้น จะเกิดธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น นอกจากดูทีวีคมชัดกว่าเดิม ในขณะเดียวกันคนส่วนหนึ่งจะตกงาน คนที่ Unskill Labour คนที่ยังไม่เรียนรู้ต้องปรับตัวให้ทัน ภาครัฐต้องเข้าไปเทรน ให้ความช่วยเหลือ