'ประยุทธ์' ผู้กำหนดชะตา เติมฟืนหรือดับไฟ 'ม็อบนักศึกษา'

'ประยุทธ์' ผู้กำหนดชะตา เติมฟืนหรือดับไฟ 'ม็อบนักศึกษา'

นาทีนี้รัฐบาลกำลังรับศึกหลายด้านที่รุมเร้าเข้ามาพร้อมๆ กัน ไล่มาตั้งแต่ วิกฤติศรัทธากระบวนการยุติธรรม จากกรณี “อัยการสูงสุด” ไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา

ที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังสอบกันขะมักเขม้น รวมไปถึงจะต้องรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับการฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน และอีกสารพัด ท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “เยาวชนปลดแอกหรือ ประชาชนปลดแอก” นั่นเอง

นับได้ว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้เจอความท้าทายทางการเมืองครั้งสำคัญ ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ออกมาขับไล่ ด้วยเหตุผล อาทิ มีการทุจริตเชิงนโยบาย การขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก การเป็นเผด็จการรัฐสภา 

หรือในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กดดันอย่างหนักหลายรูปแบบ จนมาถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จากกรณีผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” และ “โครงการรับจำนำข้าว”

 

ส่วนรัฐบาลนี้ กำลังเจอเหตุผลในการขับไล่ คือเป็น “เผด็จการ” สืบทอดอำนาจมาจาก “คสช.” แม้สิ่งที่ทำให้แต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่จะมาจากปัจจัยที่แตกต่างกัน และส่งผลถึงความเป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมาเสมอ

เมื่อลองดูข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 3 ข้อ ได้แก่ “ยุบสภา-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-หยุดคุกคามประชาชน” พร้อมกับแถมอีก 2 ข้อ คือ ไม่เอา “รัฐประหาร” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” ซึ่งข้อเรียกมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งคือ การ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่นายกฯ ประสานเสียงพร้อมร่วมสังฆกรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อลดแรงกดดันต่อรัฐบาล

หากธรรมชาติการชุมนุม ต้องมุ่งไปข้างหน้าเสมอ ไม่จบหรือหยุดตามข้อเรียกร้องที่ได้รับการตอบสนองแล้ว และครั้งนี้ก็คงเป็นเช่นนั้น เมื่อ “รัฐบาล” รับลูก “แก้รัฐธรรมนูญ” ทางผู้ชุมนุมก็จะขยับไล่บี้ให้ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ หรืออะไรที่ยากกว่านั้น อย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนทาง “รัฐบาล” คงไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ง่ายๆ ในเร็ววันอย่างแน่นอน ขืนยอม “เลือกตั้งใหม่” แต่กติกายังแก้ไม่เสร็จเรียบร้อย สถานการณ์ก็จะกลับมาอยู่ ณ จุดเดิมอีกครั้ง บางที “นายกฯ” อาจถึงคราวต้องตัดสินใจ ยอมสังเวย “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ “ส.ว.” ที่เป็นระเบิดเวลา เร็วกว่ากำหนด ด้วยการตัดอำนาจ โดยเฉพาะมีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ และกำหนดที่มาให้ยึดโยงประชาชน

ที่สำคัญนายกฯ อาจจำเป็นต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญ ประกาศเป็นสัญญาประชาคมไปเลยว่า ใช้เวลาเท่าไหร่ เสร็จพอดีกับรัฐบาลที่จะอยู่ครบวาระหรือไม่ ถ้าเสร็จก่อนจะ “ยุบสภา” เมื่อไหร่ หรือไม่ อย่างไร ทุกฝ่ายจะได้เห็นโรดแมพและรู้ว่าจะต้องทำอะไรกันต่อไป และยังถือเป็นการสร้างทางลงให้กับม็อบหรือผู้ชุมนุมไปในตัว และแฟร์กับทุกฝ่าย

 เมื่อเช็คท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามไม่สร้างเงื่อนไขให้สถานการณ์ตึงเครียด หรือบานปลายไปมากกว่าเดิม มีความพยายามหาช่องทางผ่อนคลายสถานการณ์ ไม่ให้ไปถึงจุดแตกหัก เพราะหากแข็งขืน ยึดจุดยืนเดิมก็จะเป็นตัวเร่งให้การชุมนุมเข้มข้นขึ้นไปอีก

ดังนั้น อำนาจการตัดสินใจทุกอย่าง อยู่ที่คนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาคนเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นคนกำหนดเกม สร้างหรือลดเงื่อนไข ให้ไฟของม็อบจุดแรงขึ้น หรือเอาฟืนออกไฟให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น และไม่ให้ทุกอย่างจบลง ด้วยการสูญเสียเหมือนอดีตที่ผ่านมา