ทำไมต้อง 'ชูสามนิ้ว' ส่องความเห็นเยาวชน คิดอย่างไร ในชุมนุม ‘ปลดแอก’

ทำไมต้อง 'ชูสามนิ้ว' ส่องความเห็นเยาวชน คิดอย่างไร ในชุมนุม ‘ปลดแอก’

เขา "ปลดแอก" อะไร!? สำรวจความเข้าใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ และมุมมองต่อ 3 ข้อเรียกร้อง และการออกมา "ชูสามนิ้ว"

16 สิงหาคม 2563 วาระใหญ่ไม่ใช่แค่หวยออกประจำเดือนแต่คือ การชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอกที่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ตั้งแต่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแม็คโดนัลด์ จนถึงแยกคอกวัว

บรรยากาศการชุมนุมเต็มไปด้วยการปราศรัยจากกลุ่มคนหลากหลายทั้ง กลุ่มนักเรียน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ระยะเวลาการชุมนุมเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 และจบลงภายในเวลา 23.00 น. โดยก่อนจบทางคณะประชาชนปลดแอกได้ตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องหลักทั้ง 3 อีกครั้ง คือ

  1. หยุดคุกคามประชาชน
  2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
  3. ยุบสภา

ชั่วโมงนี้เสียงคนรุ่นใหม่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เด็กคืออนาคตของชาติฉันใด การรับฟังเสียงของพวกเขาก็สำคัญฉันนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีวาทกรรมบางชุดที่กล่าวถึงการเข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองของเยาวชน เช่นการไม่รู้จักการเมืองดีพอ การฟังข้อมูลด้านเดียว โดนล้างสมอง แม้กระทั่งไปม็อบเพราะกระแส กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงชวนคนเยาวชนมาพูดคุยถึงความเข้าใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นหลักจุดร่วมในการออกมาเคลื่อนไหวว่าพวกเขามองเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

     

159768473773

  

  • ให้มันจบที่รุ่นเรา

"เราโกรธ และทนไม่ได้แล้ว"

เสียงยืนยันจาก วิมลรัตน์ เยาวชนวัย 23 ปี เธอเล่าว่าการไปชุมนุมเมื่อ 16 สิงหาที่ผ่านมาเป็นการร่วมชุมนุมครั้งที่สอง หลังจากที่ไปร่วมครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ปีที่แล้วเธอไม่สนใจการเมืองมากนัก ได้แต่มองแบบผ่านๆ ด้วยสายตาที่คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว

“ตอนนั้นยังไม่รู้จักฝั่งซ้าย ฝั่งขวาเลย รวมถึงม็อบทั้งหลาย เสื้อเหลือง เสื้อแดงก็รู้จักแค่ว่า มันรุนแรง มันน่ากลัว ประเทศสงบสุขได้เราก็ดีใจ”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาสนใจเรื่องการเมืองคือการเล่นโซเชียลมีเดียแล้วได้อ่านข้อมูลบางประเภท จึงเกิดการตั้งคำถามแล้วหาข้อมูลอ่านเรื่อยๆ โดยเธอยังคงย้ำตลอดว่า ตอนนี้เธอก็ไม่ได้รู้ลึกเรื่องการเมืองเท่าคนอื่นๆ มากนัก มีอะไรสงสัยก็ส่งข้อความถามเพื่อน หรือหาข้อมูลอ่านต่อ ลองผิดลองถูก ไม่มีใครรู้เรื่องตั้งแต่เกิด

“หลังจากโดนเบิกเนตร ทำให้รู้ว่าบ้านเมืองสงบ แต่ปัญหายังซุกใต้พรมอีกเพียบ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเป็นแล้ว มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง เราไปในที่ที่มีคนอุดมการณ์เดียวกัน มันให้รู้สึกว่าเสียงเรามีค่า แม้จะเป็นแต่เสียงของเยาวชน แต่เราก็สิทธิเสรีภาพในการพูด”

เธอเล่าต่อว่าทุกครั้งที่ไปม็อบ แม้จะเพิ่งไปมาเพียง 2 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็ทำให้เธอรู้สึกฮึกเหิม แต่ก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่าที่ไม่มีที่ไหนไม่มีปัญหา แต่การยอมให้เราพูดถึงปัญหานั่นคือสิ่งสำคัญในประเทศประชาธิปไตย

159768488250

ไม่ต่างจาก เบลล่า ที่เล่าว่าเหตุผลที่ทำให้ไปร่วมการชุมนุมคืออยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในครั้งนี้เพราะการชุมนุมมันคือแสดงออกถึงสิทธิทางประชาธิปไตยที่เมื่อเราไม่ได้รับความยุติธรรมอะไรในหลายๆ เรื่องสวัสดิการที่เลวร้าย และการทำงานของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการอย่างโจ่งแจ้ง

“เราออกมาประกาศถึงจุดยืนที่เรามีและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการชุมนุมครั้งนี้”

อีกด้านหนึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ปลุกให้บางคนตื่น! เช่นเดียวกับ บุศรินทร์ มือใหม่เรียนรู้การเมือง เล่าว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามต่อการชุมนุม และการทำงานของรัฐบาล แม้เธอจะไม่ได้เข้าร่วมม็อบใดเลยสักครั้ง แต่ก็ตามข่าวอยู่ตลอด และอยากรู้ข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“เราเริ่มส่งไลน์ถามเพื่อนว่า อยากหาข้อมูลเรื่อง 14 ตุลาได้จากช่องทางไหนบ้าง เพราะจากกระแสข่าวทำให้เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

  • ส่งเสียงต่อ 3 ข้อเรียกร้อง

ประเด็นหลักของการชุมนุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไล่มาจนถึงเดือนสิงหาคม คือการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับ 3 เรียกร้องทั้ง หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา

แป้ม นักศึกษา วัย 21 ผู้สนใจด้านการเมือง เล่ามุมมองต่อข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อว่าการคุกคามมันหมายถึงการที่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้ เเล้วมีการปิดกั้นความคิดในการเเสดงออกในเเง่หนึ่งเข้าใจว่ามีบางเรื่องที่เราเเสดงความเห็นไม่ได้มากตามที่ควรเเต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันคือการที่เราไม่สามารถเปล่งเสียง

ของเราออกมาได้เลย เเล้วรัฐบาลเเสดงให้เห็นผลของการกระทำว่าถ้าเราเเสดงความเห็นที่ไม่ถูกใจเขา เท่ากับเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“จุดจบสุดท้ายคือบางคนถูกจับ หรือถูกมองว่าทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมันไม่ใช่ เเต่มันคือเรื่องจริงของการทำงานของภาครัฐ ซึ่งเด็กคือหนึ่งในประชาชนที่เขาควรฟังเเล้วเอาความคิดของเราไปเถียงกันในสภาเพื่อพัฒนาประเทศให้ดีกว่าเดิม”

สำหรับประเด็นเรื่องยุบสภา ในมุมมองส่วนตัวเคยตั้งคำถามเหมือนกันว่าเเล้วถ้ายุบสภา ประเทศเราจะเป็นยังไงต่อ คิดว่าเราควรมาถกกันตรงนี้ต่อว่าเมื่อรัฐบาลเก่าออกไปออกไป ประเทศเราจะเลือกตั้งใหม่ เเล้วถามว่าในตอนนั้นใครจะขึ้นมาดูเเลประเทศ การปกครองประเทศจะเป็นยังไงต่อไปไปในทิศทางไหน เเต่ถ้ามีคำตอบที่ชัดเจนเเล้วมีเเนวทางเเก้ปัญหาได้ว่า เราจะเอายังไงต่อไปในอนาคต

159768492370

“ถ้าการยุบสภาคือทางออกที่ดีที่สุด เราก็โอเค หรืออาจจะยุบ เเต่ในช่วงนี้เราต้องมาคุยกันว่าประเทศจะยังไงต่อ เพื่อที่ยุบเสร็จ เราก็ดำเนินตามทางที่คุยกันไว้”

สำหรับเรื่องข้อเรียกร้องสุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แป้มยอมรับว่าตัวเองยังใหม่ในเรื่องนี้ แต่ก็พอสรุปได้จากสื่อคือการใช้คำใหญ่ สวยงาม กำกวม เปิดกว้างมากเกินไป เเล้วพอมีคนทำผิดมีใครพิสูจน์ได้มั้ยว่าการกระทำเเบบนี้คือการยุยงปลุกปั่น หรือไม่เหมาะสม มันก็พิสูจน์ไม่ได้ เพราะคำที่เขาใช้มันนามธรรม ทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน มันควรจะระบุเลยว่าเเล้วการกระทำเเบบไหนที่ผิดกฎหมายมากกว่า โฟกัสว่าจะเอาคนนี้ผิด เเล้วไปหากฎหมายมารองรับ เเต่ต้องมองว่ากฎหมายมันบอกว่าคุณทำได้หรือทำไม่ได้

อีกด้านหนึ่ง สุพัตรา วัย 23 ปี กลับคิดว่าข้อเรียกร้องบางข้อยังต้องถกเถียงให้เข้าใจและครอบคลุมมากกว่านี้

“วงจรการเมืองไทยมันจะวนลูป และไปบรรจบที่รัฐประหาร หลายครั้งที่ยุบ เพราะม็อบการเมืองยื่นข้อเรียกร้องให้ยุบสภาด้วยการขัดแย้งผลประโยชน์ภายในและภายนอก”

โดยเธอได้ย้ำว่าการยุบสภามันยังไม่ส่งผลกระทบเราโดยตรงหรอก ถ้ายังไม่เห็นว่าระบอบอำนาจใหม่คืออะไร

“ถึงเราจะไม่เห็นด้วยในบางข้อที่เหมือนประกันขายฝัน แต่เราก็คิดว่าการเริ่มออกมาเรียกร้องนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี”

159768495331

       

  • ฟังเสียงคนรุ่นใหม่

ใน 'วันเด็กแห่งชาติ' ปี 2560 ผลสำรวจความเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีต่อผู้ใหญ่ในประเทศเครือข่ายนิวกราวด์ (Newground Lap) ระบุว่า ของขวัญที่อยากได้จากผู้ใหญ่ที่สุด คือการรับฟังและเข้าใจ อยากให้ผู้ใหญ่ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงระบบการศึกษา ให้อำนาจเยาวชน และอยากให้การเมืองดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง อยากให้ประเทศปรับปรุงเรื่องการศึกษา ระบบสาธารณะ และการเดินทางทางคมนาคมมากกว่า การเมืองและเศรฐกิจ

นิยามของเยาวชนจากกรมการปกครอง คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ข้อมูลล่าสุดจำนวนเยาวชนในประเทศไทยปี 2562 มีทั้งหมด 7,336,865 คน โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2556 - 2573 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงสังคมสูงวัย

“แค่เราตั้งคำถามก็ผิดแล้ว ดังนั้นอย่างแรกคือฟังเสียงเราหน่อย’

159768498675

ชฎาพร บัณฑิตวัย 23 ปีตอบกลับเมื่อถามความคิดเห็นต่อประเด็นดราม่าเรื่องอายุกับการเมือง โดยเธอกล่าวต่อว่าถึงแม้เราจะเป็นเยาวชน แต่เราก็คือคนไทย คือประชาชนคนหนึ่ง เธอคิดว่าการที่ผู้ใหญ่บางคนหรือพ่อแม่ของบางครอบครัวกีดกันให้เด็กไม่ยุ่งการเมืองคือ ภาพจำต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งตอนการชุมนุมในปี 2553 หรือการสลายการชุมนุมในปี 2557

สำหรับ อลินลดา มองว่าเสียงของที่พูดออกไป เพราะต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดกับทุกคน

“คำว่าประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องที่เรา (หมายถึงเธอ) ต้องการมันไม่ได้เป็นนามธรรมเลย มันจับต้องได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง จะให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับเรา ภาษีที่เราเสียจะคืนกลับมาเป็นสิ่งที่คุณไม่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมชีวิตต้องมาเจออะไรแบบนี้”

เธอยกตัวอย่างว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ ถ้าให้ปัญหาต่างๆ มันหมดไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม และรัฐสวัสดิการ

“เอาง่ายๆ เลย ถนน หรือฟุตบาท ทำไมไม่ใช่ทุกคนที่ได้ใช้ ได้สัญจร ได้เดิน ในถนนที่ดี บนฟุตบาทที่เรียบ เราทุกคนก็เสียภาษีเหมือนกัน แต่ความเจริญกลับกระจุกตัวอยู่แค่ในตัวเมืองเท่านั้น สองสิ่งนี้คือพื้นฐานในชีวิตที่สำคัญเลย เราไม่ต้องการชีวิตดีๆ ที่ลงท่อไปทั้งตัว เราต้องการชีวิตดีๆ ที่ลงตัว กรุงเทพเป็นเมืองที่การคมนาคมเจริญที่สุดในประเทศ แต่ทำไมกรุงเทพถึงเป็นเมืองที่รอรถเมล์นานมากที่สุด การรอรถเมล์เป็นชั่วโมง ๆ มันคือจุดที่เรารู้สึกว่า ทำไมคุณภาพชีวิตเรามันจะดีไปกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ รัฐรณรงค์ให้เราใช้รถสาธารณะ แต่รัฐไม่พยายามทำให้การโดยสารรถสาธารณะของพวกเราดีเลย”

โดยเธอยังย้ำว่า อุดมการณ์กินไม่ได้ แต่ประชาธิปไตยกินได้ ถึงมันจะไม่ได้ผ่ามาแล้วเป็นเค้กก็เถอะ แต่ประชาธิปไตย สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส่ในการใช้ภาษีได้ สุดท้ายแล้วมันก็คืนกลับมาที่ตัวเรา

“สุดท้ายนี้ สิ่งที่เราหวังเป็นอย่างมากในการชุมนุมครั้งนี้ คือ การได้รับประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่เอาประชาธิปไตยครึ่งใบหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะไม่งั้นสิ่งที่เราชุมนุมไป มันคงวนลูปกลับไปเป็นแบบเดิมไม่จบไม่สิ้นเสียที” อลินลดา ทิ้งท้าย

159768502228