TMB จ่อ ตั้งสำรองเพิ่ม ไตรมาส3-4 ปี63 รองรับ หนี้ด้อยคุณภาพขยับ

TMB จ่อ ตั้งสำรองเพิ่ม ไตรมาส3-4 ปี63 รองรับ หนี้ด้อยคุณภาพขยับ

ทีเอ็มบี ส่งสัญญาณตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อ ในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ปีนี้ รองรับหนี้ด้อยคุณภาพ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพลง จากการขายสินทรัพย์ทอดตลาด เปิดแผน Stress test ยันเงินเงินกองทุนล้น ล้น ไม่ต้องเพิ่มทุนในอีก 2ปีข้างหน้า

     นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 คาดว่าจะเห็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นของธนาคารต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเสี่ยง จากความเสียหายหนี้ด้อยคุณภาพ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ขายทอดตลาดที่จะลดมูลค่าในอนาคต

   รวมถึงรองรับคุณภาพที่อาจด้อยลง หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือ ทำให้หนี้เสียในระยะข้างหน้าอาจเพิ่มขึ้นได้จากปัจจุบันที่ 2.34% ดังนั้นคาดจะเห็นสำรองเพิ่มขึ้นต่อจากปัจจุบันที่ 114%
    ส่วนการ Stress test ของธนาคารที่อยู่ระหว่างการพิจารณา กรณีเกิดสถานการณ์ร้ายแรงสุด มีโอกาสที่จะกินเงินกองทุนของธนาคารราว 2% จากปัจจุบันที่ 18-19%ก็เชื่อว่า เงินกองทุนของธนาคารยังเหลือ ที่ 16-17% ซึ่งยังมีเพียงพอ หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนในอีก 2ปีข้างหน้านี้

    ส่วนภาพรวมสาขา คาดสาขาที่เหมาะสมหลังควบรวม จะอยู่ระดับ 600สาขา จากปัจจุบันที่สาขาอยู่ที่ 825 สาขา ดังนั้นขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างควบรวมสาขา และพิจารณาสาขาที่เหมาะสมเพื่อให้เหมาะกับธุรกิจในอนาคต
    ขณะที่การจ่ายปันผลของธนาคารปีนี้ จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ และนโยบายของธปท. ขณะที่ราคาหุ้นของธนาคาร ก็ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับกลุ่มธนาคาร ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่า จะไม่ปรับลดลงจนขาดทุนแน่นอน
   สำหรับกรณีของ บริษัทกาารบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แม้ธนาคารจะไม่ได้ปล่อยกู้ แต่ธนาคารมีการลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทย 3.1พันล้านบาท ซึ่งธนาคารได้สำรองไปแล้วราว 50% ของมูลค่าการลงทุน
  ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการออกหุ้นกู้ วงเงิน 2แสนล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่อนุมัติไว้เมื่อปี 2553 ที่ 1.4 แสนล้านบาท โดยแผนการออกหุ้นกู้ดังกล่าว เป็นการเตรียมพร้อมไว้ สำหรับแผน 5 ปีของธนาคาร (63-67) เพื่อรองรับแผนธุรกิจหลังควบรวมกิจการ แม้ปัจจุบันสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูงมาก แต่ก็เตรียมพร้อมไว้รองรับขนาดของธนาคารที่ใหญ่ขึ้น
   “สิ่งที่เราต้องบริหารมากที่สุดคือ บริหารหนี้เสีย เพราะหากเกิดหนี้เสียขึ้น จะเกิดความเสียหายมาก การหารายได้ใหม่ คงไม่สามารถเข้ามาทดแทนความเสียหายได้ ดังนั้นเวลานี้ธนาคารต้องทุ่มทรัพยากรไปดูแลบริหารจัดการดูแลลูกหนี้ที่ปัญหา”