'สภาพัฒน์' รับห่วงปัจจัยเสี่ยงการเมืองซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ

'สภาพัฒน์' รับห่วงปัจจัยเสี่ยงการเมืองซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ

"สภาพัฒน์"กางปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี รับห่วงปัจจัยการเมืองกระทบเศรษฐกิจ ซ้ำเติมบรรยากาศการลงทุน แนะรัฐให้ความสำคัญบริหารเศรษฐกิจในประเทศในอีก 7 ประเด็น พร้อมเตรียมมาตรการดูแลผู้ประกอบการ-แรงงานเพิ่มเติม

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวระหว่างการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2563 วันนี้ (17 ส.ค.) ว่าสภาพัฒน์ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 เป็นติดลบ 7.8 ถึง -7.3%  โดยมีค่ากลางในปีนี้อยู่ที่ -7.5% 

ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีนี้รัฐบาลยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจในหลายประเด็นรวมทั้งเรื่องของการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

"จำเป็นต้องรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศที่ต้องระวังไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง หรือเกิดสถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพเพิ่ม ขึ้นมาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอยู่มากต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป"นายทศพรกล่าว 

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญประกอบไปด้วย 7 ประเด็นได้แก่  


1.การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ การติดตามและป้องกันปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน และ การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

2.การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ กลุ่มธุรกิจและแรงงาน ที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ 

3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค และ การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน

4.การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก
โดยให้ความสำคัญกับ
การจัดหาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ การชดเชยเยียวยาเกษตรกร
การปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตร และการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ 

5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐภายใต้กรอบสำคัญ ๆ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในไตรมาสแรก และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว

6.การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

และ 7.การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดในระลอกที่สอง ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และเงื่อนไขความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะปานกลาง 

159763119223