ถ้าไทยกลายเป็น 'สังคมผู้สูงอายุ' AI ช่วยอะไรได้บ้าง?

ถ้าไทยกลายเป็น 'สังคมผู้สูงอายุ' AI ช่วยอะไรได้บ้าง?

แนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการมีบุตรลดน้อยลง ทำให้ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือวิกฤติ แต่แนวโน้มนี้อาจเป็นโอกาสสำหรับบางคนมองว่า เป็นโอกาสในการนำ AI เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรับอนาคต

ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับสถิติจำนวนประชากรที่เปลี่ยนไป องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดจะมีจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลก (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2593 และเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2643

เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่มีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จากแนวโน้มการมีบุตรลดลง แน่นอนว่าเรากำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายด้าน สถิตินี้เองที่บางคนมองว่า เป็นวิกฤติแต่บางคนฉวยจังหวะนี้ ทำให้เป็นโอกาส ซึ่งเอไอจะเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากแนวโน้มขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ และการจำกัดจำนวนแรงงานและการย้ายถิ่นฐานจากชาวต่างชาติ ผมคิดว่าสเต็ปแรกที่เทคโนโลยีสามารถทำได้ คือ การทำระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์

เริ่มจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น โรงงานรถยนต์ โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และอาจนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไปใช้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่ง การสื่อสาร การบริการ เป็นลำดับต่อไป ไม่เพียงธุรกิจขนาดใหญ่ที่หันมาลงทุนสร้างระบบอัตโนมัติ แต่องค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กเริ่มเห็นความสำคัญเช่นกัน เพื่อคงสถานะผู้นำในตลาดที่แข่งขันสูง

ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอด มีการทำ “self-checkout” ตามร้านสะดวกซื้อให้ลูกค้าจ่ายเงินชำระค่าสินค้าด้วยตัวเอง รวมทั้งร้านอาหารชั้นนำต่างๆ มีการติดตั้งสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้ลูกค้าสั่งอาหารเอง โดยไม่ต้องรอพนักงานมารับออเดอร์ ทั้งยังมีตัวอย่างที่เราเคยเห็นแล้วอีกมากมายเช่น robot chefs และ หุ่นยนต์บริการให้ข้อมูลในโรงแรมบางแห่ง

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้กับธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพและลดต้นทุนด้านการผลิต ส่วนมนุษย์จะได้ใช้เวลาไปกับงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การเพิ่มทักษะของแรงงานมนุษย์ที่มีอย่างจำกัด การเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีให้แรงงานมนุษย์ เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน รวมทั้งหากจำนวนคนทำงานน้อยลง เป็นโอกาสที่ดีที่ต้องเพิ่มทักษะให้รอบด้าน เพื่อสามารถทำงานได้หลากหลาย (Muti-Tasking) ไม่แน่ในอนาคตอันใกล้ สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจเพิ่มวิชาบังคับเกี่ยวกับทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ตลาดการทำงานในรูปแบบใหม่

อีกมุมหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องมีแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย แต่ติดปัญหาเรื่องภาษาเพื่อการสื่อสารและสอนงาน เอไอจะเข้ามาช่วยได้โดยการแปลภาษา และสอนวัฒนธรรมให้คนกลุ่มนั้น แต่มนุษย์เองก็ควรปรับตัว ยืดหยุ่น และเปิดรับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ที่จำเป็นในโลกอนาคตด้วย

เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เพียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เทคโนโลยีจะมีบทบาทอำนวยความสะดวกและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชั่น และอุปกรณ์ไอโอทีช่วยตรวจจับความเคลื่อนไหวร่างกาย และวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ เพื่อแนะนำและกระตุ้นการทำกิจวัตรประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ 

ทั้งการออกกำลังกาย การแจ้งเตือนการกินยา แนะนำเมนูอาหารที่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีบางองค์กรพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อดูแลและเป็นเพื่อนแก้เหงาให้กับผู้สูงอายุ แน่นอนว่าหุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึก จึงเหมาะดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม