'2 สมาคมทัวร์'วอนรัฐเร่งกู้ชีพ พยุงเอสเอ็มอีพ้นปากเหว

'2 สมาคมทัวร์'วอนรัฐเร่งกู้ชีพ  พยุงเอสเอ็มอีพ้นปากเหว

ช่วงเดือน ก.ค-ส.ค.นี้มีการเปลี่ยนแปลงของผู้นั่งตำแหน่งนายกสมาคมด้านท่องเที่ยวด้วยกัน 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ซึ่งต่างมีภารกิจสำคัญ

นั่นคือการพาสมาชิกก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 พยุงธุรกิจพ้นปากเหวนี้ไปให้ได้!

ธนพล ชีวรัตนพร ว่าที่นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า จะผลักดันข้อเสนอขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อ “ลดต้นทุนการทำแพ็คเกจทัวร์” ของบริษัทนำเที่ยวให้เกิดขึ้นจริงภายในปีนี้ เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี หวังพยุงเอสเอ็มอีให้อยู่รอดในปี 2564

“หากรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่บริษัททัวร์ ก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้บางส่วน เช่น ค่ารถบัสนำเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำราคาขายได้ถูกลง ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยมาซื้อแพ็คเกจทัวร์ ลูกค้าเป้าหมายที่มองไว้มีกลุ่มสูงวัยและกลุ่มครอบครัวให้สามารถท่องเที่ยวได้ทุกเจเนอเรชั่น เพื่อกระตุ้นจำนวนคนเดินทาง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวข้ามภาค ให้คนไทยเดินทางถี่ขึ้น อยากเห็นเฉลี่ย 5 ครั้งต่อคนต่อปี จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ครั้งต่อคนต่อปี”

ด้านสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบการทัวร์เอาต์บาวด์หรือนำคนไทยเที่ยวต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่จะผลักดันหลังขึ้นเป็นนายกทีทีเอเอคือการประสานขอให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือธุรกิจทัวร์เอาต์บาวด์เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) และความช่วยเหลือด้านแรงงานเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

“ทีทีเอเอมีสมาชิก 888 ราย เป็นสมาชิกสามัญกว่า 600 บริษัท พบว่ามีบริษัทที่ไม่ต่ออายุสมาชิก 93 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริษัททัวร์เอาต์บาวด์อย่างหนัก”

เมื่อทำตลาดทัวร์พาคนไทยเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ทำให้ช่วงนี้บริษัททัวร์เอาต์บาวด์ต้องปรับตัวหันมารุกทำตลาดในประเทศ ด้วยการเสนอขายแพ็คเกจทัวร์แบบพรีเมียม กินดีอยู่ดี เจาะกลุ่มคนไทยที่นิยมเที่ยวเมืองนอก ใช้จ่ายหลักหมื่นถึงแสนบาทต่อทริป แต่ไม่สามารถเดินทางได้เพราะติดข้อจำกัดต่างๆ

“ประเมินว่าธุรกิจทัวร์เอาต์บาวด์จะต้องหันมาขายแพ็คเกจทัวร์ในประเทศยาวไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2564”

อย่างไรก็ตามยังเห็น “สัญญาณที่ดี” ของตลาดไทยเที่ยวนอก เมื่อสหภาพยุโรปประกาศอนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 11 ประเทศปลอดภัย หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย สามารถเดินทางเข้ายุโรปได้ หลังทบทวนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังติดข้อจำกัดตรงที่เมื่อคนไทยเดินทางไปและกลับจากยุโรป ต้องผ่านการกักตัว 14 วัน จึงคาดว่ากว่าตลาดไทยเที่ยวนอกจะเดินทางได้จริง ต้องรอวัคซีนผลิตสำเร็จ

สุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีทีเอเอได้เสนอให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (NTO) ของประเทศต่างๆ  เดินหน้าประชาสัมพันธ์ตอกย้ำตลาดนักท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับสินค้าท่องเที่ยวแก่บริษัททัวร์เอาต์บาวด์

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเตรียมการจัดงานคอนซูเมอร์แฟร์ “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก” ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมเดือน ส.ค.นี้ ไปจัดต้นปีหน้า อาจจะขยับไปช่วงปลายเดือน ก.พ.2564 แทน เพราะสถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลาย โดยลดพื้นที่การจัดแสดงสินค้าลงครึ่งหนึ่ง จากเดิม 2 หมื่นตารางเมตร เหลือ 1 หมื่นตารางเมตร ตั้งเป้าขายบูธได้ 500-600 บูธ

ล่าสุดมีผู้ประกอบการจองแล้วเกือบ 200 บูธ โดยคาดว่าจะหันมาขายสินค้าท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเป็น 50% ของสินค้าทั้งหมดภายในงานฯ ต่างจากสถานการณ์ปกติที่ขายสินค้าท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่าที่สัดส่วน 70%

และจากการจัดเก็บสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามี 2,638,066 คน ลดลง 61.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 6,786,493 คน ขณะที่ตลอดปี 2562 มีจำนวนรวม 13,672,954 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (18 ส.ค.) สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 และเลือกตั้งคณะกรรมการทีเอชเอ ประจำปีวาระ 2563-2565 ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ มี มาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ลงสมัครเป็นนายกทีเอชเอคนใหม่ หลังจากดำรงตำแหน่งอุปนายกและประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมในวาระปัจจุบัน