สร้างขุมทรัพย์ความมั่งคั่ง ผ่านการลงทุนในหุ้นเอเชีย

สร้างขุมทรัพย์ความมั่งคั่ง ผ่านการลงทุนในหุ้นเอเชีย

ขนาดเศรษฐกิจเอเชียคิดเป็น 31% ของเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกหลายด้าน จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่นักลงทุนจะเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นเอเชียในอนาคต จากปัจจุบันยังมีสัดส่วนการถือครองหุ้นเอเชียน้อย สัดส่วนมูลค่า 13% ในดัชนีหุ้นโลก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายมากขึ้น การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินจนทำให้ดอกเบี้ยในบางประเทศติดลบ รวมถึงการใช้เม็ดเงินมหาศาลจากรัฐบาลทั่วโลกในการพยุงเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ การผงาดขึ้นของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วของประเทศมหาอำนาจในระยะข้างหน้า…เร็วขึ้น

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หลายประเทศในเอเชียสามารถรับมือได้ดีกว่าประเทศตะวันตก ทั้งในด้านสังคม การปกครอง และระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจีนที่เป็นต้นกำเนิดของโรคระบาด ได้ใช้มาตรการปิดเมือง และกักตัวผู้ติดเชื้ออย่างเด็ดขาด ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ในไตรมาส 2/2020 ในขณะที่ประเทศกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐ เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็สามารถรับมือกับโรคระบาดได้อย่างน่าทึ่ง โดยไต้หวันและเกาหลีใต้สามารถควบคุมการระบาดโดยไม่จำเป็นต้องปิดเมือง สำหรับมาตรการทางการคลังนั้น ถึงแม้ประเทศในเอเชียจะไม่ได้ใช้สกุลเงินหลักของโลก แต่ด้วยวินัยทางการคลังที่ดี ทำให้หลายประเทศมีศักยภาพในการใช้เม็ดเงินหนุนเศรษฐกิจได้ไม่แพ้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และกลุ่มประเทศยูโรโซน

อีกหนึ่งจุดเด่นของภูมิภาคเอเชียก็คือ ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ก็คือทรัพยากรมนุษย์ และจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติในปี 2019 ในภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่นนั้น มีประเทศจีนและอินเดียซึ่งประชากรรวมกันมากกว่า 2,700 ล้านคน ทำให้เอเชียมีประชากรเกือบ 58% ของประชากรโลก ซึ่งการที่มีประชากรและสัดส่วนชนชั้นกลางมากนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายมิติ เช่น การบริโภคในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดการพึ่งพาการส่งออก

นอกจากนี้ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีโอกาสที่รัฐบาลจะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมต่างๆ อีกทั้งการมีประชากรจำนวนมาก จัดเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาดำเนินธุรกิจอีกด้วย

สำหรับการลงทุนนั้น คาดว่านักลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่ยังมีสัดส่วนการถือครองหุ้นเอเชียน้อย โดยสัดส่วนมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหุ้นในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นในดัชนีหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ในปี 2019 นั้น คิดเป็นเพียงประมาณ 13% แต่ขนาดเศรษฐกิจเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นคิดเป็นถึงประมาณ 31% ของเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

ดังนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมากที่นักลงทุนจะเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นเอเชียในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียที่เพิ่มขึ้น

เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลายประเทศ และหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่มโอกาสในการลงทุน แต่การจะเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพในการเติบโต และให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการเฟ้นหาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกระแสหลักของโลก (Mega trend) มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังต้องเป็นบริษัทที่มีธรรมภิบาลหรือความโปร่งใสด้วย โดยประเทศที่น่าลงทุนในเวลานี้ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G ที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ

และหากเทียบภูมิภาคเอเชียกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เช่น กลุ่มละตินอเมริกา รัสเซีย และแอฟริกา พบว่าเอเชียมีความผันผวนน้อยกว่ามาก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มละตินอเมริกาและรัสเซียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้น มีความผันผวนตามราคาน้ำมัน แต่เศรษฐกิจในเอเชียนั้นส่วนใหญ่จะเน้นการบริโภคในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากกว่า

นักลงทุนอาจมองว่าการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สิ่งที่จะเป็นความเสี่ยงมากกว่าก็คือ การไม่มีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเอเชียเลย ในขณะที่ประเทศในเอเชียจะมีความสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังนั้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียผ่านการบริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญสำหรับการสร้างขุมทรัพย์การลงทุนในระยะยาว