ประเมิน 4 ฉากทัศน์ ปลายทาง 'ม็อบปลดแอก'

ประเมิน 4 ฉากทัศน์ ปลายทาง 'ม็อบปลดแอก'

ม็อบนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีเนื้อหาทั้งภาพและเสียงกระทบถึงสถาบันเบื้องสูง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง หลายเวทีก็ยังมีข้อความหมิ่นเหม่ โดยเฉพาะการปราศรัย ขณะที่คณาจารย์และคนทั่วไปก็แบ่งข้างเป็นฝ่ายเชียร์กับฝ่ายต่อต้าน จนสังคมกลับมาขัดแย้งและมีแนวโน้มบานปลายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์หลังจากนี้ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองประเมินเป็นฉากทัศน์ หรือ Scenario ได้ 4 รูปแบบ คือ

  1. หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมในการรับมือกับผู้ชุมนุม เน้นดำเนินคดีเฉพาะตัวการสำคัญในการกระทำที่ร้ายแรงจริงๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็รักษาฐานมวลชนที่ยังรักสถาบันเอาไว้ได้ จะส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันเคลื่อนไหวโดยยกระดับใช้ความรุนแรงมากขึ้น คล้ายกับที่ฮ่องกง หรือ “ฮ่องกงโมเดล” หลังจากนั้นก็ต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง

  2. หากรัฐบาลนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรให้ชัดเจน ก็จะถูกกดดันจากการชุมนุมไปเรื่อยๆ ทั้งฝ่ายประชาชนปลดแอก และฝ่ายที่เทิดทูนสถาบันด้วย โดยมีปัจจัยด้านปัญหาเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตัวเสริมและเร่งสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีอาจต้องลาออกหรือยุบสภา แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้ และฝ่ายที่เคลื่อนไหวขณะนี้จะเข้ามามีอำนาจรัฐ แล้วอาจดำเนินการหลายเรื่องตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ จนเกิดความขัดแย้งที่เสี่ยงรุนแรงขึ้น

  3. ใช้แนวทางการเจรจา โดยไม่ยุบสภา แต่เสนอตั้ง รัฐบาลแห่งชาติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แนวทางนี้ไม่น่าจะหยุดยั้งการชุมนุมได้ เพราะแกนนำม็อบไม่ยอมรับรัฐบาลแห่งชาติ และมุ่งไปที่การลดทอนอำนานจสถาบันพระมหากษัตริย์

  4. หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะเกิดจากเงื่อนไขใดใน 3 ข้อที่บอกไปแล้ว และมีการยกเลิกมาตราที่คุ้มครองการกระทำต่างๆ ของ คสช. หรือไปแตะต้องมาตราเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินไป ก็อาจเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกรอบได้เช่นกัน

แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลายทางของการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ หนีไม่พ้นไปจบที่การเลือกตั้ง โดยมีต่างชาติร่วมกดดัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ต้องการครอบงำฝ่ายการเมืองของไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการคานอำนาจจีน 

ฉะนั้นหากฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ได้รับชัยชนะ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันหลักของชาติ เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการต่างประเทศขนานใหญ่ รวมไปถึงมีโอกาสสูญเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะกลุ่มนี้สนับสนุนเรื่องการปกครองตนเองอย่างชัดเจน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อปลดล็อกไมให้ประเทศไทยเป็น “รัฐเดี่ยว” เป็นต้น

ที่สำคัญหากประเมินแบบเผินๆ จะพบว่า ฝ่ายที่ได้เปรียบคือฝ่ายการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบนักศึกษา เพราะหากการเคลื่อนไหวจุดติด และไปจนสุดทาง ก็จะสามารถสถาปนารูปแบบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งตัวเองก็จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ แต่หากมีการเจรจากันระหว่างนั้น เช่น ถอยคนละก้าว ตามที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาพูด (โดยใช้ความรุนแรงของม็อบเป็นเงื่อนไขขู่และต่อรอง) ก็จะเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จัดทำกติกาประเทศกันใหม่ ซึ่งฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลก็ได้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะหากผลักดันถึงขั้นให้รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ประเด็นที่หลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงกำลังให้ความสนใจอย่างมากก็คือ การประกาศสนับสนุนม็อบนักศึกษาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 32 คน ทั้งตามดูแลเรื่องสถานที่ ความปลอดภัย และพร้อมไปประกันตัวให้นักศึกษาหากถูกจับ ซึ่งเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาขอโทษม็อบนักศึกษาที่ให้ความเห็นเชิงห้ามปรามการเรื่องแสดงออกที่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์

ท่าทีของแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของพรรคตัวจริง หรือ “คนแดนไกล” อาจไฟขียวให้โหนกระแสการเคลื่อนไหวนอกสภาครั้งนี้ด้วยหรือไม่ เพราะประเมินแล้วมีแต่ได้กับได้ 

อย่างน้อยที่สุดคือได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเร็วกว่าที่คาด และได้เลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ตนเองไม่เสียเปรียบแบบเดิม ส่วนสถานการณ์หากจะไหลไปไกลกว่านั้น ก็คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยไม่ออกหน้าเหมือนเก่า