สัมพันธ์อิสราเอล-ยูเออี สู่อนาคตตะวันออกกลาง

สัมพันธ์อิสราเอล-ยูเออี สู่อนาคตตะวันออกกลาง

การเมืองในตะวันออกกลางที่คุกรุ่นจะเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ประเด็นปาเลสไตน์ไปจนถึงการต่อสู้กับอิหร่าน เมื่อ "อิสราเอล" และ "สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" (ยูเออี) ประกาศว่าจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ใหม่ในวงกว้าง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เป็นคนกลางเจรจาให้ "อิสราเอล" และ "ยูเออี" สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน และลงนามใน "ข้อตกลงอับราฮัม" เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) โดย อิสราเอลเห็นชอบระงับแผนผนวกพื้นที่ในเขตยึดครองเวสต์แบงก์ และให้คำมั่นต่อต้านอิหร่าน มหาอำนาจในภูมิภาคอย่างแข็งขัน ซึ่งทั้งยูเออี อิสราเอล และสหรัฐมองว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

แถลงการณ์ร่วมระบุว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และมกุฎราชกุมารชีคโมฮัมเหม็ด บิน ซายิด แห่งอาบูดาบี "เห็นชอบสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" ข้อตกลงอับราฮัมจะเปิดให้สองประเทศกำหนดเส้นทางใหม่ที่จะไขศักยภาพอันมหาศาลในภูมิภาค

"ผลจากพัฒนาการทางการทูต และตามการร้องขอของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอลจะระงับการประกาศอธิปไตยเหนือเขตเวสต์แบงก์ ตามที่กำหนดไว้ในแผนการของสหรัฐที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศไว้ในเดือน ม.ค.” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ คาดว่า อิสราเอลและยูเออีจะสร้างสถานทูตและส่งทูตไปประจำในเร็วๆ นี้ ส่วนพิธีลงนามจะจัดขึ้นในทำเนียบขาว

"ข้อตกลงอับราฮัม" ยังช่วยให้ทรัมป์ทำนโยบายต่างประเทศได้สำเร็จ ในช่วงที่เขาลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัยในวันที่ 3 พ.ย. ทรัมป์แถลงที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวว่า ตอนนี้กำลังมีการเจรจาข้อตกลงแบบเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางด้วย

ทรัมป์ย้ำว่า ข้อตกลงฉบับนี้ผนึกพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีความสามารถมากที่สุดของสหรัฐในตะวันออกกลางให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งยังเป็นก้าวย่างสำคัญสู่การสร้างตะวันออกกลางที่สงบ ปลอดภัย และมั่งคั่งยิ่งขึ้น

ด้านยูเออีแถลงว่า จะเป็นผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเหนียวแน่นต่อไป ประชาชนกลุ่มนี้หวังสร้างรัฐอิสระในเขตยึดครองเวสต์แบงก์ กาซา และเยรูซาเลมตะวันออก และข้อตกลงอับราฮัมยังคงความเป็นไปได้ของทางออกแบบ 2 รัฐ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อมานาน

159748730822

ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงอับราฮัม ขณะนี้เขาถูกดำเนินคดีจากข้อกล่าวหาทุจริต หนำซ้ำคะแนนนิยมยังตกต่ำจากการจัดการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

เนทันยาฮู แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า ข้อตกลงอับราฮัมจะนำไปสู่สันติภาพอย่างเป็นทางการและเต็มรูปแบบกับยูเออี ทั้งยังมีความหวังว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะทำแบบเดียวกัน โดยจำเป็นต้องผนวกคำขอของประธานาธิบดีทรัมป์ไว้ ที่ให้รอการผนวกเวสต์แบงก์ตามที่เคยให้คำมั่นไว้เป็นการชั่วคราว

"เป็นช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับสันติภาพในตะวันออกกลาง" เนทันยาฮูกล่าว

อิสราเอลเคยลงนามสันติภาพกับอียิปต์ในปี 2522 และกับจอร์แดนในปี 2537 แต่ยูเออีและชาติอาหรับส่วนใหญ่ไม่ยอมรับอิสราเอล และไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตหรือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจนถึงขณะนี้ ยูเออีจึงเป็นประเทศแรกในอ่าวเปอร์เซียที่บรรลุข้อตกลงดังกล่าวกับรัฐยิว

แม้ทางการของทั้งสามประเทศเรียกข้อตกลงฉบับนี้ว่า “ฉบับประวัติศาสตร์” เป็นการพัฒนาไปสู่สันติภาพ แต่ผู้นำปาเลสไตน์ที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน ประณามว่าเป็นการ “แทงข้างหลัง”

ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์ ปฏิเสธข้อตกลง อาบู รูดิเนห์ โฆษกประธานาธิบดีอ่านแถลงการณ์จากนอกสำนักงานใหญ่ของอับบาสในเมืองรามัลเลาะห์ เขตเวสต์แบงก์ระบุ “เป็นการทรยศต่อเยรูซาเลม อัลอักซอ (มัสยิด ที่เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของอิสลาม) และผลประโยชน์ของชาวปาเลสไตน์”

รอยเตอร์ สอบถาม ฮานัน อาชราวี นักเจรจามากความสามารถว่า ผู้นำปาเลสไตน์รู้หรือไม่ว่าจะมีข้อตกลงอับราฮัม 

“ไม่ เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่เกี่ยวเลยสักนิด” อาชราวีตอบ

ในกาซา ฟาวซี บารุม โฆษกกลุ่มติดอาวุธนิยมอิสลาม “ฮามาส” กล่าวว่า การสถาปนาความสัมพันธ์เป็นการแทงข้างหลังชาวปาเลสไตน์ ตอบสนองการยึดครองของอิสราเอลเพียงประการเดียวเท่านั้น

ขณะที่มกุฎราชกุมารยูเออี ตรัสว่า ข้อตกลงอับราฮัมจะหยุดยั้งไม่ให้อิสราเอลผนวกดินแดนปาเลสไตน์ ที่อิสราเอลกำลังรอไฟเขียวจากวอชิงตันเพิ่มขึ้นได้อีก

อันวาร์ การ์กาช เจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเออี กล่าวว่า ข้อตกลงช่วยถอดชนวนระเบิดเวลา เขาเรียกร้องให้อิสราเอลและปาเลสไตน์กลับสู่โต๊ะเจรจา

ไบรอัน ฮุค ทูตพิเศษของทรัมป์ เรียกข้อตกลงอับราฮัมว่า ฝันร้ายสำหรับอิหร่าน ขณะที่ ฮุสเซ็น อามีร์-อับดุลลาห์ฮัน ที่ปรึกษาพิเศษของประธานสภาอิหร่าน กล่าวว่า ข้อตกลงไม่ได้สร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

เขาทวีตข้อความ “พฤติกรรมของอาบูดาบีไม่ชอบธรรม เป็นการหันหลังให้ผลประโยชน์ของปาเลสไตน์ ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ ยูเออีจะต้องถูกรุมล้อมด้วยไฟแห่งลัทธิไซออนนิสม์”

อิหร่านกับอิสราเอลเป็นศัตรูตัวฉกาจ อิสราเอลห่วงมากว่า อิหร่านอาจพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรัฐบาลเตหะรานปฏิเสธ นอกจากนี้อิหร่านยังเกี่ยวข้องกับการทำสงครามตัวแทนตั้งแต่ซีเรียไปจนถึงเยเมน ที่ซึ่งยูเออีเป็นสมาชิกลำดับต้นๆ ในกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบีย ต่อต้านกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่านในเยเมน

ยูเออีมีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน แต่น้ำมันทำให้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอาหรับ ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมายูเออีขยายอิทธิพลทางพาณิชย์และการทหารมากขึ้นทั้งในอ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง เพื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังนิยมอิสลามและอิทธิพลของอิหร่าน

ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ตัวแทนจากอิสราเอลและยูเออีจะพบกันเพื่อลงนามข้อตกลงว่าด้วยการลงทุน การท่องเที่ยว เปิดเที่ยวบินตรง ความมั่นคง โทรคมนาคม และประเด็นอื่นๆ

“ใครๆ ก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ ตอนนี้น้ำแข็งถูกละลายแล้ว ผมหวังว่าชาติอาหรับและมุสลิมจะเดินตามรอยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว