ผนึก 'ทีมไทยแลนด์' ดึงต่างชาติลงทุน ‘นิวเอสเคิร์ฟ’ ใน EEC 

ผนึก 'ทีมไทยแลนด์' ดึงต่างชาติลงทุน ‘นิวเอสเคิร์ฟ’ ใน EEC 

ติดตามความคืบหน้า "ทีมไทยแลนด์" ซึ่งผนึกกำลังเพื่อร่วมผลักดันพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การบริการดิจิทัล และการพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งวงประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานการค้าไทยในต่างประเทศจาก 19 ประเทศ เพื่อวางแผนชักชวนนักลงทุนจากประเทศเป้าหมายมายังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การบริการดิจิทัล และการพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

บุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า อีอีซีเป็นโครงการสำคัญอันดับต้นของรัฐบาล ซึ่งสถานทูตไทยทั่วโลกพยายามส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาอีอีซีผ่านแนวทาง 3-Re  ได้แก่ “Re-start” การเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “Re-boot” การเริ่มประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนแบบนิวนอร์มอล และ “Re-connect” การเชื่อมเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยมีอีอีซีเป็นศูนย์กลาง 

คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ กพอ. มองว่าไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และคาดว่ารัฐบาลจะทยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกประมาณ 9 เดือน จนกว่าจะได้วัคซีนต้านโควิดในไตรมาสแรกของปี 2564 ตามที่รัฐบาลร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ กับ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อผลิตวัคซีนโควิด

“ระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการอีอีซี ภารกิจในประเทศมีพัฒนาการดี ซึ่งการที่ สกพอ.ไม่มีสำนักงานในต่างประเทศ จำเป็นต้องให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุน และนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมายังอีอีซี” คณิตย้ำ

มูลค่าการลงทุนในอีอีซี ปี 2562 อยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท ตรงตามเป้าวางไว้ โดยมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมในอีอีซีอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม 84% อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) 5% และอื่นๆ 11% สะท้อนให้เห็นว่าอีอีซีได้รับแค่ปริมาณการลงทุน แต่ยังไม่ตรงตามเป้าที่ต้องการปั้นอีอีซีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าการระบาดโควิดจะพ่นพิษ เศรษฐกิจไทยจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ -8.1% เท่ากับสูญเสียรายได้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท รวมกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท สำหรับพื้นที่อีอีซี คาดว่าจีดีพี ปี 2563 เติบโต -10% รุนแรงกว่าสถานการณ์ภาพรวมในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่รับผลกระทบมากสุด

ลักษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ กพอ. สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวถึงทิศทางอีอีซีในช่วงหลังโควิด-19 ว่า ต้องการมุ่งแหล่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดใหม่ (Emerging Digital and technology) และเชื่อมอุตสาหกรรมเป้าหมายอีอีซี ปัจจุบันไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประมูล 5จี เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และคาดว่า 5จีจะครอบคลุม 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายในเดือน มี.ค.2564 

“5จี ต่อยอดให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 4 สาขา ได้แก่ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), หุ่นยนต์อัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), เทคโนโลยีที่นำภาพเสมือน ที่จะทำให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ 5จี สนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี” ลักษมณ กล่าวย้ำ 

อีอีซียังมุ่งอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หากเชื่อมโยงการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ จะทำให้ไทยโดดเด่นในเวทีโลกในการรับมือกับโควิด-19 ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งเทคโนโลยี

สกพอ.ขอความร่วมมือสถานทูตไทยช่วยชักจูงบริษัทที่เป็นผู้เล่นสำคัญทางเทคโนโลยีได้มาลงทุนในอีอีซี อาทิ บริษัท BIO-EC ของฝรั่งเศส เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือบริษัท Kaletra ของสหรัฐ สำหรับโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) หรือบริษัท Astra Zeneca ทำยา โดยเฉพาะวัคซีนต้านโควิด-19 

นอกจากนี้ อีอีซียังต้องการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงและการขนส่งสินค้าของอาเซียนต่อไป และที่น่าแปลกใจ โควิดส่งผลให้อุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศในอีอีซีโดดเด่นขึ้น โดยบริษัท DHL ของเยอรมนี และ UPS ของสหรัฐ สนใจลงทุนศูนย์กลางการลงทุนที่นี่ ขณะที่บริษัท อาลีบาบาของจีน สนใจศูนย์กลางการขนส่งอัจฉริยะในอีอีซีด้วย

ลักษมณ ยังมองว่า ตอนนี้เป็นจังหวะเหมาะสม ต้องการให้สถานทูตชักจูงบริษัท ST Engineering Aerospace ของสิงคโปร์ขยายการลงทุนมายังอีอีซี และบริษัท Rungis Marche  International ของฝรั่งเศส มาลงทุนด้านการขนส่งสินค้าเกษตร ตลอดจนบริษัท Toray ของญี่ปุ่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสนับสนุนให้อีอีซีเป็นอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ในอาเซียน