จับตาอนาคต ‘เทรดดีล’ สหรัฐ-จีน

จับตาอนาคต ‘เทรดดีล’ สหรัฐ-จีน

จับตา "เทรดดีล" ข้อตกลงการค้าเสรีเฟส 1 ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ลงนามกันไปเมื่อเดือน ม.ค. โดยเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ความคุกรุ่นเริ่มเกิดขึ้นจากการกล่าวโทษกันเรื่องโควิด-19 ก่อให้เกิดคำถามว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร? มีโอกาสเกิดการเจรจาเฟส 2 หรือไม่?

วันนี้ (15 ส.ค.) คณะเจรจาจากสหรัฐและจีนจะหารือกันเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี “เฟส 1” ที่ลงนามกันไปเมื่อเดือน ม.ค. ก่อนที่โควิด-19 จะทุบเศรษฐกิจโลก และความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจเสื่อมถอยลง 

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ข้อตกลงการค้าที่รัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งลงนามกันเมื่อเดือน ม.ค.สะท้อนถึงการสงบศึกชั่วคราวหลังจากทำสงครามการค้ายืดเยื้อ ปักกิ่งให้คำมั่นว่าภายใน 2 ปีนี้จะซื้อสินค้าสหรัฐเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ ไล่ตั้งแต่รถยนต์ เครื่องจักรกล ไปจนถึงน้ำมันและสินค้าเกษตร

แต่เอาเข้าจริงจีนซื้อสินค้าไปไม่มาก ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้วาจาเกรี้ยวกราดกับจีนมากขึ้นทุกปี ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระ 2 ในเดือน พ.ย. ที่คาดว่าการต่อสู้เข้มข้นมาก ท่าทีเช่นนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า อนาคตของข้อตกลงจะเป็นอย่างไร มีโอกาสสำหรับการเจรจาเฟส 2 หรือไม่

159742767543

“ผลของการเจรจาจะส่งสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายยินดีเก็บข้อตกลงไว้ต่อไป หรือความสัมพันธ์จะเสื่อมถอยต่อไปอีก” ไอริส ปัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกจีนแผ่นดินใหญ่ บริษัทบริการการเงินรายใหญ่ “ไอเอ็นจี” ให้ความเห็น

ทั้งรัฐบาลสหรัฐและจีนไม่มีใครยืนยันเรื่องการหารือกับสำนักข่าวเอเอฟพี แต่ตามข้อตกลงกำหนดไว้ว่าจะต้องประชุมกันทุก 6 เดือนหลังจากมีผลบังคับใช้ ซึ่งตรงกับวันนี้

แม้ความตึงเครียดระหว่างกันยังมีสูง และสองประเทศเพิ่งพ้นความตื่นตระหนกจากโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เหล่านักวิเคราะห์ไม่คาดว่าการเจรจาจะทำให้ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงไปมากนัก และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น วอชิงตันจะเป็นฝ่ายเร่งเร้า

“จนถึงขณะนี้ จีนค่อนข้างเป็นฝ่ายตั้งรับ และสหรัฐเป็นฝ่ายรุก ในทัศนะของผม ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักจากจีน ไม่ว่าจะเป็นการค้า ความร่วมมือ หรือการเปิดตลาด ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่ฝ่ายสหรัฐ” เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกจีนแผ่นดินใหญ่ ธนาคารเอเอ็นแซดกล่าว

ตอนที่สหรัฐกับจีนลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ที่กรุงวอชิงตันนั้น บรรยากาศเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่แล้วความเอื้ออาทรดังกล่าวเลือนหายไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างกล่าวโทษกันและกันเรื่องโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในประเทศจีน

นอกจากนี้การที่จีนเข้มงวดกับฮ่องกงจนวอชิงตันต้องตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตร รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้ติ๊กต็อกและวีแช็ต ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีนปฏิบัติการในสหรัฐ ยิ่งทำให้ความตึงเครียดรุนแรงยิ่งขึ้นอีก

โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) กล่าวในเดือน มิ.ย.ว่า จีนต้องปฏิบัติตามคำมั่น สหรัฐจึงจะพิจารณาทำข้อตกลงฉบับที่ 2 แต่เดือนเดียวกัน ที่ปรึกษาสภาแห่งรัฐจีนกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อข้อตกลง และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ “ไม่น่าพอใจอย่างยิ่ง”

สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่มีฐานปฏิบัติการในสหรัฐ กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. จีนซื้อสินค้าเกษตรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าดูจากฐานข้อมูลสหรัฐซื้อไปแค่ 39% ของเป้าครึ่งปีเท่านั้น ถ้าดูจากตัวเลขจีนอยู่ที่ 48%

“ปักกิ่งซื้อน้อยกว่าที่พูด แต่ดูเหมือนยังต้องการปฏิบัติตามคำมั่น แม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนบานปลาย” ทอมมี สี หัวหน้าฝ่ายวิจัยจีน ธนาคารโอซีบีซี แสดงทัศนะ

ด้านเบิร์ต ฮอฟแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกในสิงคโปร์ กล่าวว่า หลังจากนี้จีนอาจซื้อสินค้าเกษตรมากขึ้น แต่จะพยายามซื้อสินค้าพลังงานให้เป็นไปตามเป้า เนื่องจากราคาในตลาดโลกต่ำ

อย่างไรก็ตาม ฮอฟแมน กล่าวว่า ภาษาในข้อตกลงจะเปิดช่องให้ทั้งสองฝ่ายปรับเป้าเพื่อให้ตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ซึ่งจะเป็นผลดี แต่อาจไม่เป็นดังหวังถ้ามองในมุมของการเมือง

“การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงจะเป็นเรื่องยากทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้การสกัดจีนเป็นไม้เด็ดในการหาเสียง แทนที่จะแก้ไขข้อตกลง เขาอาจอยากยกเลิกไม่นานก่อนการเลือกตั้งก็ได้” ฮอฟแมนกล่าวทิ้งท้าย