เจรจาการค้าสหรัฐ-จีน กดดันหุ้นไทยผันผวน

เจรจาการค้าสหรัฐ-จีน กดดันหุ้นไทยผันผวน

สัปดาห์นี้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ โดยความเคลื่อนไหวของดอลลาร์ยังขาดปัจจัยหลัก

แต่ยังคงได้รับปัจจัยเดิมจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในสัปดาห์ก่อนหน้า ประกอบกับความชัดเจนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศออกมาหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ31.20-31.03บาทต่อดอลลาร์ 

ส่วนสัปดาห์หน้า ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีตัวเลขสำคัญที่จะต้องติดตาม ได้แก่เรื่องของดัชนีตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ของสหรัฐขณะที่ทางยุโรปจะมีตัวเลขservices PMIของประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน รวมถึงยังมีการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกในวันที่ 19 ส.ค. นี้ด้วย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (14 ส.ค.) ปิดซื้อขายที่ 1,327.05 จุด ลดลง 19.64 จุด หรือ -1.46% โดยมีมูลค่าซื้อขาย 58,050.78 ล้านบาท  บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุ แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าประเมินว่าดัชนีฯมีโอกาสแกว่งตัวแบบ Sideway down เพราะมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนและปัจจัยลบต่างๆกดดันอยู่โดยเฉพาะจากต่างประเทศเป็นปัจจัยหลักที่มีน้ำหนักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนตัวเลข GDP ไทยไตรมาส 2 ปี 2563 คาดว่าตัวเลขจะออกมาติดลบพอสมควร ประเมินกรอบดัชนีฯไว้ที่ระดับ 1,300 -1,370 จุด

ด้านความเคลื่อนไหวของราคาทองคำอยู่ที่ 1,948.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 28,650 บาทต่อบาททองคำ  วายแอลจี บูลเลี่ยนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่าแนะนำนักลงทุนรอดูความชัดเจนจากประเด็นข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาทองคำ อย่างไรแล้วเมื่อราคาขยับขึ้นให้จับตาโซนแนวต้านระดับ 1,967-1,971 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาทองคำดีดตัวขึ้นไม่สามารถยืนได้นักลงทุนอาจขายทองคำในลักษณะทยอยทำกำไรออกมาเมื่อราคาขยับขึ้น  ซึ่งในระยะสั้นหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับ นักลงทุนสามารถเข้าซื้อคืนเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งนี้ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,919-1,898 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยหากราคาทองคำไม่หลุดแนวรับราคาทองคำมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงสั้นอีกครั้ง