'ทีดีอาร์ไอ'แนะ 4 นโยบาย ยกระดับ ‘แรงงาน’เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

'ทีดีอาร์ไอ'แนะ 4 นโยบาย ยกระดับ ‘แรงงาน’เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

"ทีดีอาร์ไอ"แนะรัฐเดินหน้า4นโยบายดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจได้จริ ขยายสวัสดิการแรงงานครอบคลุมแรงงานนอกระบบ20ล้านคน ดันกองทุนประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระดึงมืออาชีพบริหารกองทุนฯเพิ่มบุคลากรทางเศรษฐกิจและสร้างระบบบิ๊กดาต้าแรงงานแบบเรียลไทม์

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทำให้กระทบต่อภาวะการมีงานทำของแรงงานในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยคาดการณ์ตัวเลขผู้มีความเสี่ยงที่จะตกงานในปีนี้สูงถึง 6-8 ล้านคน ​ขณะที่การถดถอยของเศรษฐกิจทำให้บัณฑิตจบใหม่อาจว่างงานเป็นจำนวนมากอีกหลายปี

อย่างไรก็ตามการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด “ครม.ประยุทธ์ 2/2” ได้มีการเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเพิ่มอีกตำแหน่ง พร้อมกับการที่นายกรัฐมนตรีประกาศผลักดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ และเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง 

นายยงยุทธกล่าวว่าประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานกว่า 56 ล้านคน (คนที่มีอายุ 15 ปีจนถึง 60 ปี) ในจำนวน นี้ประมาณ 37-38 ล้านคนเป็นแรงงานที่มีการทำงานจริงทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ การผลักดันให้กระทรวงนี้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจควรมีการทำใน 4 เรื่องที่สำคัญคือ 

1.เพิ่มสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (Universal Social Security) ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ จำนวนของแรงงานนอกระบบของประเทศไทยสูงถึง 20 ล้านคน เกินครึ่งเป็นเกษตรกรมีอยู่ประมาณ 10 -11 ล้านคน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบของเรายังไม่ได้รับการดูแลในเรื่องของการมีหลักประกันสำหรับแรงงานเท่าที่ควร แนวทางที่ควรทำคือการสร้างระบบประกันสังคมภาคบังคับโดยรัฐบาลอาจช่วยจ่ายสมทบบางส่วนเพื่อให้แรงงานทั้งระบบทั้งในและนอกระบบได้รับการช่วยเหลือเท่าเทียมกัน

“ถ้ารัฐบาลจะทำกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจก็ต้องสามารถที่จะทำตามมาตรฐานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้ทั้งเรื่องรายได้ สวัสดิการ หลักประกันและความคุ้มครอง คือความรับผิดชอบทั้งหมดของกระทรวงแรงงาน ไม่ใช่ว่าพอแรงงานภาคเกษตรมีปัญหาบอกว่าเรื่องนี้เป็นของกระทรวงเกษตรฯกระทรวงแรงงานต้องมีแผนงานที่ครอบคลุมทั้งหมด”

 

2.ปรับเปลี่ยนสถานะของหน่วยงานประกันสังคมจากหน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน กองทุนประกันสังคมจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 หรือ 30 ปีก่อน ปัจจุบันต้องการการบริหารงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการกองทุนที่มีขนาดใหญ่ มีเงินสะสมอยู่กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องการมืออาชีพมาบริหารให้ได้ดอกผลเพิ่มขึ้นเพื่อมาจัดสรรให้กับสมาชิกที่เกษียณอายุ

 รวมถึงปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการจ่ายเงินสมทบที่เดิมจำกัดเพดานอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน โดยควรจะเพิ่มก็คือเรื่องของเพดานงานออมเพื่อการเกษียณซึ่งปัจจุบันเงินบำนาญชราภาพไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งควรมีการปรับเพดานการจ่ายอย่างน้อยสำหรับคนที่สมัครใจเพื่อให้มีเงินบำนาญมากขึ้นในวัยเกษียณ

3.ยกระดับบุคคลากรของกระทรวงแรงงาน เพิ่มบุคคลากรที่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจในกระทรวงหากมีการเพิ่มบุคคลากรด้านนี้มากขึ้นก็จะทำให้ทิศทางการทำงานไปสู่การปฏิรูปกระทรวงให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจได้ตามนโยบายรัฐบาล

และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพระบบงานคอมพิวเตอร์และระบบซอฟแวร์ของกระทรวงแรงงานต้องเป็น “Big Data” และ “Real time” ซึ่งในการจัดการ รวมทั้งแก้ปัญหาแรงงานได้รวดเร็วและตรงจุดต้องมีระบบที่ดี ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในกระทรวงให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยต้องไปดูข้อกฎหมายที่มีการออกไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีกฎหมายอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งการจัดหางาน การฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งการรับสิิทธิประโยชน์ในระหว่างว่างงานต้องเชื่อมโยงกัน

“กระทรวงแรงงานถูกออกแบบไว้ตั้งแต่แรกว่าเป็นกระทรวงจิ๋วแต่แจ๋ว โดยส่วนสำคัญคือคนและระบบข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหาร ระบบที่ดีจะช่วยให้มีข้อมูลที่ดีในการวางแผนการพัฒนาแรงงานของประเทศในภาพรวมได้”นายยงยุทธกล่าว

159741247130