'นาคูหา'...หุบเขาแห่งความสุข

'นาคูหา'...หุบเขาแห่งความสุข

สัมผัสความอิ่มเอมของการได้สูดอากาศบริสุทธิ์ อิ่มปากเพราะอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ไร้สารเคมี อิ่มใจที่เห็นชาวบ้านอยู่อย่างสุขสงบท่ามกลางธรรมชาติและดอยสูงของ 'บ้านนาคูหา'

หลายคนที่ไปเมืองแพร่แล้วแวะไปไหว้ พระธาตุช่อแฮ คงไม่คิดว่ายังมีชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง บนดอยสูงที่อยากให้ไปเยือนเพราะมีของดีทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางศาสนาและมาดูทรัพย์ในดิน สินในป่า ที่สามารถนำมาให้มีมูลค่ามีรายได้ขึ้นมา จนคนเมืองหรือคนจากที่อื่นๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ยังทึ่ง ว่ามีแบบนี้ด้วย เรามาไล่กันทีละอย่างที่ผมเอ่ยมา

อย่างแรกคือที่บอกว่าอยู่ใกล้ๆ วัดพระธาตุช่อแฮ คือเมื่อท่านผู้อ่านมาถึงเมืองแพร่ ก็ตั้งปลายทางว่าจะไปพระธาตุช่อแฮ พอไปจนถึง ชุมชนช่อแฮ ที่เป็นตึกแถวขนาบข้างถนนจนถนนแคบๆ จะมีตลาดสดเล็กๆ และสถานีตำรวจ หน้าสถานีตำรวจจะมีตรอกเล็กๆ ซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปตามทาง สักพักจะมาออกถนนใหญ่ ไปตามทางไม่นาน จะมีป้ายบอกทางเข้า บ้านนาคูหา หรือถ้าเป็นป้ายท่องเที่ยวอาจจะเขียนว่า ”พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง” ตรงทางแยก ก็เลี้ยวขวาไปตามทางลาดยาง ทางจะคดเคี้ยวไปตามร่องเขา จนเห็นที่ทำการเขตห้ามล่าช้างผาด่านทางขวามือ ก็แสดงว่าเริ่มเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติและย่านท่องเที่ยวของชุนแล้ว เพราะเลยที่ทำการเขตห้ามล่าไปนิดเดียว จะเป็นทางแยกเข้า น้ำตกแม่แคม เข้าไปราว 100 เมตรถึงลานจอดรถ และมีศาลาริมน้ำ เดินตามทางเดินไปราว 50 เมตร ก็ถึงลำธารน้ำตก

ซึ่งน้ำตกแม่แคมนี้เป็นลำห้วยเล็กๆ ในฤดูแล้ง นั่นหมายถึงว่ามีน้ำไหลตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกหินที่บางชั้นจะมีหินปูนมาเคลือบอีกที มีชั้นเล็กๆ หลายชั้น ส่วนชั้นใหญ่สูงราว 5 เมตร อย่างที่บอกว่าเหมือนเป็นน้ำตกหินปูนอย่างห้วยแม่ขมิ้นหรือเอราวัน แต่จริงๆ เป็นหินปูนที่มาเคลือบชั้นหินอีกทีไม่ได้เกิดจากตะกอนหินปูนเกาะตัวกันจนเป็นน้ำตกแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จึงเห็นเป็นก้อนหินมากกว่า คนในท้องถิ่นนิยมมาเล่นน้ำกันในช่วงหน้าร้อน เสียดายที่ขยะเยอะไปหน่อย ที่ไหนก็ตามถ้านักท่องเที่ยวไม่ช่วยกันดูแลและถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า จะเป็นแบบนี้แทบทุกแห่ง สำนึกสาธารณะกับคนไทย ยังต้องฝึกกันอีกนาน

159741156658

159741156672

จากน้ำตกแม่แคม จะเป็นถนนขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ทางลาดยางแต่แคบ ทางก็คดเคี้ยวไปมาจนเหมือนจะขึ้นไปสุดเขาสูง จะมีทางเลี้ยวหักศอกทางขวามือเข้าไป พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ทางจะชันหน่อยจะไปสุดทางที่ลานจอดรถของ ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิ์วงศาจริยาราม พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 นี่คือชื่อเต็มๆ แต่เราเรียกวัดพระธาตุอินทร์แขวนจำลองก็ได้ พุทธอุทยานนี้ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูน เกือบถึงยอดเขา ด้วยทำเลที่ตั้ง มันจึงเป็นจุดชมทิวทัศน์ไปโดยปริยาย ทั้งบรรยากาศที่ร่มรื่น มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างอย่างสวยงาม ลมยอดดอยที่พัดเอื่อย จึงทำให้บรรยากาศสงบร่มเย็น

จุดเด่นของที่นี่คือพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ซึ่งสถานที่ต้นแบบที่เขาเรียกแบบนี้ก่อนและมีชื่อเสียงก็อยู่ที่พม่า แต่ว่ากันตามจริง มันไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไรเลย เป็นปรากฏการณ์การสึกกร่อนของหินธรรมดา (ส่วนใหญ่จะเป็นแกรนิต) ที่ในห้วงเวลานี้มันยังคงวางตั้งอยู่บนลานหินโล่ง ซึ่งเราดูแล้วทำไมมันไม่หล่น? มันตั้งอยู่ได้อย่างไร? จริงๆ แล้วทั่วโลกที่มีหินลักษณะแบบนี้ มันมีหล่นตกลงไปแล้วมากมาย เหมือนเราอาจแปลกใจอย่างผาหล่มสัก ที่หน้าผาหินที่ยื่นออกไปเป็นชะง่อนมันไม่หักตกหล่นลงไป? จริงๆ แล้วมันหักตกหล่นมามากมาย เยอะเยอะ เพียงแต่อันที่เราเห็นขณะนี้ มันยังไม่หัก ยังไม่หล่น มันไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่หล่นเลย ในอนาคตไม่รู้ว่าเมื่อใด มันก็ต้องหักหล่น ปรากฏการณ์ทางธรณี เวลาดูต้องดูให้ยาว เป็นร้อย เป็นพันหมื่นปี ดูด้วยตัวเราไม่ได้ก็ดูเอาในวิชาการเขาก็แล้วกัน

เหตุที่เรียกอย่างนี้เพราะไม่ต้องอธิบายมากว่ามันลักษณะแบบไหน พอบอกแบบพระธาตุอินทร์แขวน คนจะรู้เลยว่าแบบไหน บ้านเราก็มีลักษณะที่เป็นแหมือนพระธาตุอินทร์แขวนนี้หลายที่ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางที่ทรงอาจไม่สวยก็มีการเอาปูนมาต่อเติม ปั้นจนเป็นทรงกลม จนถึงขนาดเอาปูนมาก่อใหม่ให้เป็นก้อนทรงกลมอยู่ริมหน้าผาก็มี บางที่ก็ปล่อยธรรมชาติ แต่ที่เหมือนกันคือ...ต้องทาสีเหลือง

สำหรับพระธาตุอินทร์แขวนที่พุทธอุทยานดอยสวรรค์นี้ มีขนาดไม่ใหญ่นัก เขามาก่อเป็นรั้วปูนล้อม ตั้งอยู่บนหน้าผาเช่นกัน นอกจากนั้นก็มีเจดีย์บนหน้าผา พระพุทธรูป บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีทางเดินเชื่อมต่อแต่ละแห่ง นอกจากจะเห็นทิวทัศน์สวยงามแล้ว การไปสักการะถ้าเห็นว่าเป็นเพียงก้อนหิน ก็ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ แต่หากแม้นมองเป็นตัวแทนแห่งศาสนาก็จะได้พิจารณาถึงแก่นแท้แห่งหลักธรรม

159741163417

159741163497

ออกจากพุทธอุทยานออกมา แล้วไปตามทางอีกนิดเดียว ก็จะเข้าสู่ย่านชุมชนบ้านนาคูหา หมู่บ้านในหุบเขาที่เงียบสงบ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านคนเมือง ที่มาอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว อาศัยที่ราบในระหว่างหุบเขาที่มีไม่มากนั้นตั้งบ้านเรือน ปลูกพืชผัก สวนผลไม้แบบผสมผสาน (ซึ่งอาจจะเพราะข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ด้วย) มีลำธารน้ำไหลผ่านหมู่บ้าน น้ำใสและสะอาดจนสาหร่ายน้ำไหลหรือที่เราเรียก “เทา” มาขึ้นอยู่ได้จนชาวบ้านมีอาชีพเก็บเทามาแปรรูปทำเป็นข้าวเกรียบ น้ำพริกเทาและอื่นๆ อีกสารพัด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาปลูก ต้นห้อม แล้วแปรรูปเป็นห้อมพร้อมใช้ส่งขาย

คนในท้องที่หรือที่เกี่ยวข้องคงเห็นว่าไม่แปลก แต่คนที่เขาไม่รู้จักแบบผมนี่ก็คือ ห้อมที่ว่านี่คือสีย้อมผ้าจากธรรมชาติให้สีเป็นสีฟ้าหม่นแบบเดียวกับคราม แต่ทางเหนือเขาใช้ห้อม ซึ่งห้อมนี่ถ้าเราไม่รู้จักก็จะเห็นว่าเป็นวัชพืชธรรมดา คือเป็นต้นไม้ต้นเล็กๆ ไม่สูงนัก เขาจะเอาใบ มาผ่านกรรมวิธีจนได้สีดำคล้ำนั่นออกมา เดิมนี่ชาวบ้านเขาปลูกฝ้ายแล้วทอผ้าฝ้ายเอง แล้วก็เอามาย้อมน้ำห้อม ตัดเย็บเป็นเสื้อคอกลมผ่ากลาง จนเราเรียกเสื้อสีนี้ทรงแบบนี้ว่า เสื้อหม้อห้อม เพราะย้อมมาจากในหม้อที่ใส่น้ำห้อม เดิมต้นห้อมนี้ก็หาเอาตามป่า แต่พอมีความต้องการมากเขาเลยต้องมีห้อมเคมีมาทดแทน ทีนี้หน่วยงานที่เราเรียกว่าเบโด (BEDO) ชื่อเต็มๆ คือ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เขาก็เข้ามาส่งเสริม โดยร่วมกับ วว. (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย) เข้ามาร่วมกันส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเลี้ยงต้นห้อม เพื่อผลิตเป็นห้อมพร้อมใช้ โดยมีสถาบันการศึกษามาช่วยออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ จนเรียกว่าทำได้ไม่พอขาย ผมถึงบอกว่านี่คือทรัพย์ในดินที่คนที่ไม่เกี่ยวข้องอาจนึกไม่ถึง นอกจากนั้นบ้านนาคูหายังมีโฮมสเตย์ มีกิจกรรมท่องเที่ยวไปเที่ยวน้ำตก เที่ยวถ้ำในบริเวณหมู่บ้านอีกด้วย

มาที่นี่ก็อิ่มตัวเรา เพราะทั้งอากาศที่เราสูดเข้าไปก็บริสุทธิ์ อิ่มปากเพราะอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ไร้สารเคมี อิ่มใจที่เห็นชาวบ้านอยู่อย่างสุขสงบท่ามกลางธรรมชาติและดอยสูง

จึงอยากให้มาเห็น มาเยือนและดีใจไปกับชาวบ้าน ในชุมชนกลางหุบดอยเช่นที่นาคูหานี้...