'เกษตร' ห่วงน้ำในเขื่อนน้อย ลุยจัดการเข้มลดผลกระทบ

'เกษตร' ห่วงน้ำในเขื่อนน้อย   ลุยจัดการเข้มลดผลกระทบ

นักวิชาการ หวั่นปี 63 แล้ง หลังพายุอ่อนแรงห่วงน้ำเข้าเขื่อนน้อย หลัง“ซิลากู”สามารถเก็บน้ำได้แค่ 10% ของความจุ ด้านกรมชลประทานเข้มแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา งดทำนาปรัง พร้อมเตือนน้ำท่วมภาคใต้

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คาดการณ์เบื้องต้นที่ปีนี้สภาวะอากาศของไทยจะเข้าสู่“ลานินญ่า” ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกเป็นภาวะปกติ โดยมีพายุเข้ามาในประเทศอย่างน้อย 2 ลูก แต่ขณะนี้ฤดูฝนล่วงเข้าเดือนที่ 4 แล้ว พบว่ามีพายุเข้ามา 1 ลูก คือ ซินลากู ซึ่งทำให้น้ำเข้าเขื่อนรวม แล้วเพียง 900 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือเพียง 10 % ของปริมาณฝนที่ตกลงมาเท่านั้น โดยไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 300 ล้าน ลบ.ม. และสิริกิติ์ 700 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนคาดการณ์ที่ว่าจะมีฝนระลอกใหม่โดยจะตกหนักตั้งแต่ปลายส.ค. – ก.ย. หรือยาวไปถึง ต.ค. นั้นคาดว่าจะไม่ตกในเขตภาคเหนือแล้ว โดยอาจต้องมาตั้งรับฝนในเขตเพชรบุรี และภาคใต้แทน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าปริมาณน้ำใน4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ที่จะนำมาใช้ในเขตลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้ว ปี 2563/64 (1 พ.ย.63- 30 เม.ย. 64) จะมีน้ำไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 9,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานปรับลดเป้าหมายเหลือเพียง 7,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีเพียง 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องแบ่งสำรองในช่วงต้นฤดูฝนที่คาดว่าจะขาดช่วงด้วย ที่เหลือจึงบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด งดส่งน้ำเพื่อทำนาปรัง แต่เกษตรกรยังปลูกข้าว กว่า 3 ล้านไร่ โดยอาศัยน้ำบาดาล น้ำจากคลองธรรมชาติ ส่งผลให้พื้นที่ทำนาไม่ได้รับความเสียหาย

ดังนั้นในปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักจะใกล้เคียงกับปี 2562 ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องตั้งรับวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้ ที่ยังมีน้ำท่าไหลลงเขื่อน จะเร่งจัดเก็บให้ได้มากที่สุด และลดการระบายน้ำ เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานที่ทำนาปีระหว่างนี้จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยจากพื้นที่ 8 ล้านไร่ มีการปลูกไปแล้ว 4.1 ล้านไร่

159741111656

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการพยากรณ์ที่คาดว่าในปีนี้จะมีพายุก่อตัว 21 ลูกเท่านั้นถือว่าน้อยมากเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2553 ซึ่งผ่านไปแล้วครึ่งปี พบว่าพายุเหลือเพียง 5 ลูกเท่านั้น แต่พลังพายุ หรือความเร็วลมของการทำลายล้างจะลดลง 50% ซึ่งหมายถึงเปอร์เซนต์การเกิดพายุจะน้อย และจากทุกแบบจำลองเรื่องปริมาณฝนที่เหลืออีก 3 เดือน คือ ส.ค.- ต.ค. นี้ระบุว่าฝนจะดี แต่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้

ส่วนพื้นที่ภาคกลางจะเป็นการท่วมปกติในที่ลุ่ม เช่น หักไห่ บางบาล แต่จะท่วมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 253 โอกาสจะทำนาปรังได้เพียง 4 ล้านไร่ สำหรับกรุงเทพฯ จะไม่เกิดน้ำท่วม แต่จะมีเหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายเท่านั้น 

159741114547

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า เพื่อชะลอน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงแล้งให้มากที่สุด รัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจและขุดลอกวงเงิน 44 ล้านบาท เตรียมพร้อมรับฝนในช่วงปลายฤดูกาลให้มากที่สุด เช่นที่บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. จากขนาดความจุ 180 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นยังมีพื้นที่มากพอที่จะรับน้ำหลากได้อีกมาก

ขณะที่การดำเนินการโครงการอื่น ๆ ซึ่งจะพร้อมดำเนินการในปี2564 – 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการเสนอรายละเอียดแผนงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนหลักฯ ต่อไป อาทิ ขุดลอกคลองดักตะกอนขอบบึงฯ ขุดบึงบอระเพ็ดทำวังปลา (Deep Pool) การแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยปรับปรุงประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ขุดลอกคลองวังนา ปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองบาง เป็นต้น โดยจะส่งผลให้ภายในปี 2572 บึงบอระเพ็ดจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ประมาณ 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่