'ราช กรุ๊ป' เร่งปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่ม

'ราช กรุ๊ป' เร่งปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่ม

“ราช กรุ๊ป” ลุ้นครึ่งปีหลังปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 2-3 โครงการครึ่งปีหลัง ดันกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเข้าเป้าเพิ่ม 780 เมกะวัตต์ในปีนี้ พร้อมเดินหน้าสร้าง โรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์ ไตรมาส 2 ปี 64 หลัง “อีไอเอ” ผ่าน

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือให้ได้ครบตามเป้าหมายปีนี้ 780 เมกะวัตต์ จากครึ่งปีแรก สามารถปิดดีลได้ 4 โครงการใหม่ และส่วนขยายของโรงไฟฟ้าเดิมอีก 1 โครงการ รวมกำลังการผลิต 243 เมกะวัตต์ และยังเหลืออีก 537 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ในครึ่งปีหลัง หรือ ปิดดีลได้ 2-3 โครงการ ซึ่งมีทั้งในส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก โดยจะมีทั้งรูปแบบการซื้อกิจการ (M&A) เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ทันที และรูปแบบการพัฒนาโครงการใหม่

โดยบริษัทเตรียมเงินลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังราว 11,300 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุนและในช่วงไตรมาส 4ปีนี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000-8,000 ล้านบาท สำหรับใช้ชำระคืนหนี้ระยะสั้น 1,250 ล้านบาท และ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับรองรับการลงทุน

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 8,177.68 เมกะวัตต์ หากในครึ่งปีหลังสามารถลงทุนได้ตามเป้าหมายก็จะส่งผลให้สิ้นปีนี้ บริษัทฯมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 8,714.68 เมกะวัตต์ และส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ ดีกว่าปี 62 ที่มีรายได้รวม 43,220 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,963 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทฯ คาดว่า จะเติบโตกว่าครึ่งปีแรก เพราะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ประกอบกับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ในลาว จะมีประสิทธิภาพขายไฟฟฟ้าได้ดีขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในฤดูฝน และยังได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ รวมถึงการรับรู้รายได้จากการให้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง และยังรับรู้รายได้ในธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เซนเซอร์ และค่าเช่าสัญญา Sigfox คาดว่าปีนี้ให้บริการได้ 350 จุด

อย่างไรก็ตาม ในปี 66 บริษัทมั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือตามเป้าหมายที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเหลือประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ ยังมีเวลาดำเนินการใน 3 ปี และผลักดันให้สามารถสร้างมูลค่ากิจการของบริษัทให้เติบโตถึงเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาท ในปี 66

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ ยังร่วมมือกับพันธมิตรเตรียมยื่นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ และสนใจยื่นประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้น นครปฐม-ชะอำ ด้วย

นายกิจจา กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน ได้ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมลงนามกับผู้รับเหมาก่อสร้าง(EPC) คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ และลงนามจัดหาเงินกู้ได้ในปี64 คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส 2 ปี64 ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เสร็จตามแผนโรงแรก 700 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)มี.ค. ปี67 และโรงที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ COD ม.ค.ปี68

ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าหินกองนั้น ขณะนี้ได้เจรจากับผู้จัดหาก๊าซฯหลายราย หลังจากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติเป็นผู้ประกอบการจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้ตัดทางเลือกการเจรจาซื้อก๊าซฯ กับปตท. โดยยังเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ส่วนจะนำเข้าก๊าซฯได้เองหรือไม่นั้น บริษัทฯยังต้องรอความชัดเจนด้านนโยบายจากภาครัฐก่อน เบื้องต้น มองว่า หากจัดซื้อก๊าซฯ จะเป็นรูปแบบสัญญาระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 10ปี