อุตสาหกรรมอาหารคาดครึ่งปีหลัง ดีมานด์พุ่งหนุนส่งออกเพิ่ม

 อุตสาหกรรมอาหารคาดครึ่งปีหลัง ดีมานด์พุ่งหนุนส่งออกเพิ่ม

"อุตฯอาหาร"เผย ผลโควิด-19 ฉุดอาหารโลกขาดแคลนจนถึงปี 2565 หนุนไทยส่งออกเพิ่ม เล็งร่วม 4 กระทรวงออกใบรับรองความปลอดภัย แนะรัฐอำนวยความสะดวกนำเข้าวัตถุดิบ คาดปี 63 ส่งออกอาหารทะลุ 1 ล้านล้านบาท โต 0.8%

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก)

21 ประเทศ มองว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดการดิสรัปชั่นของอาหารโลกจนทำให้เกิดการขาดแคลน และกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหารไปจนถึงปี 2565 ดังนั้น

กลุ่มเอเปก จึงคาดหวังให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้กับเอเปคและประเทศต่างๆในโลก 

เนื่องจากไทยผลิตอาหารอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน และยังได้รับความยอมรับในมาตรฐานความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะในเรื่องของโควิด-19 ที่ไทยปลอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานาน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกอาหารของไทยเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2565 แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการปลอดจากโควิด-19 อย่างเด็ดขาด ซึ่งหากต่างชาติมั่นใจก็จะขยายตลาดได้อีกมากอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ภาคเอกชนได้เตรียมลงนามความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในเร็วๆนี้ เพื่อจัดทำมาตรฐาน และออกใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุขที่เข้มงวด ให้กับสินค้าอาหารที่ส่งออกจากไทย เพื่อเป็นการรับรองการตรวจสอบที่เข้มงวดของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อเพิ่มความไว้วางใจของลูกค้าต่างชาติ ซึ่งจะเป็นมาตรการเชิงรุกป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย

อย่างไรก็ตาม ในการเพิ่มยอดส่งออกให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ภาครัฐควรจะปรับกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะมาตรการลดอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารแปรรูป ในกลุ่มของวัตถุดิบที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย หรือในไทยผลิตได้น้อยไม่เพียงพอ หรือการกำหนดโควตาการนำเข้า เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ และไม่กระทบต่อเกษตรกรของไทย

“ในขณะนี้โรงงานแปรรูปอาหารยังเหลือกำลังการผลิตอยู่มาก โดยเฉพาะโรงงานแช่เยือกแข็งใช้กำลังการผลิตเพียง 30% เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งหากรัฐส่งเสริมให้นำสินค้าที่ไม่กระทบต่อเกษตรกรของไทยเข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างเต็มที่ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกอาหารได้อีกมาก และจะเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต”

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 การส่งออกอาหารของไทยหดตัวลงเล็กน้อย 2% มีมูลค่า 505,584 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวกลับมาเป็นบวกมีมูลค่าราว 519,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2563 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% สินค้าหลักที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งสับปะรด

“ในช่วงครึ่งปีหลังความต้องการอาหารจะฟื้นตัว และแรงกดดันจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แต่ทั้งนี้เงินบาทจะต้องไม่แข็งค่าและผันผวนเกินไป”