คกก.ขับเคลื่อน 5G แห่งชาติประชุมนัดแรก ดันพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทย 

คกก.ขับเคลื่อน 5G แห่งชาติประชุมนัดแรก ดันพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทย 

คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติประชุมนัดแรก เดินหน้าผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทย มุ่งขับเคลื่อน 5G ทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 133/2563 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการจากภาครัฐและเอกชน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้ง คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยในส่วนของการต่อยอด การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการประมูลคลื่นความถี่และมีการลงทุนขยายโครงข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ซึ่งการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ พร้อมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้บรรลุตามทิศทางการพัฒนาที่ได้กำหนดไว้

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่มีวิสัยทัศน์คือ ประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กำหนดเป้าหมายการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564-2565) และระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งสอดคล้องกับภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ภายใต้นโนบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย (ร่าง) แผนฯ มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ โครงข่าย 5G มีความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ในเขตพื้นที่เทศบาล และ 50 Mbps ในทุกพื้นที่ รวมถึงมีโครงข่าย 5G ที่เข้าถึงร้อยละ 98 ของประชากร ทุกพื้นที่ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC และประชากรทั้งหมดในแต่ละจังหวัดที่ได้รับการประกาศเขตให้เป็น Smart City

พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการโครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ประกอบด้วย 1. โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ได้แก่ โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี อ.ดอยตุง จ.เชียงราย และโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อ. แม่อาย จ.เชียงใหม่ 2. โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยเป็นโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และ Critical Technology เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่กระบวนการพยากรณ์ความเสี่ยง การป้องกันโรค และการรักษาทั้งการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCD ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาล

ที่ยังประชุมยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ที่มี Promotion Packages ประกอบด้วย 1) มาตรการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ที่กำหนดให้การวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับระบบน้ำและไฟ 2) มาตรการยกเลิกและลดข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ สามารถลดขั้นตอนการติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยไม่บังคับให้ทำประชาพิจารณ์ 3) มาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ ส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีเงินได้ (Corporate Tax) สำหรับการลงทุนในโครงข่าย และอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงาน อาคาร หมู่บ้าน และ 4) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ควรมีมาตรการ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

“เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การดำเนินงานใด ๆ ในระบบ 5G ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด” นางสาวรัชดา กล่าว