‘ท่องเที่ยว-ค้าปลีก’ รอรับอานิสงส์ มาตรการะตุ้นศก.รอบใหม่

‘ท่องเที่ยว-ค้าปลีก’ รอรับอานิสงส์  มาตรการะตุ้นศก.รอบใหม่

ได้เห็นโฉมหน้าโฉมตาอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 กับ 7 รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงที่จะเข้ามาร่วมฟื้นวิกฤตประเทศ

ซึ่งแน่นอนว่าภารกิจหลักหนีไม่พ้นการฟื้นเศรษฐกิจที่บาดเจ็บสาหัสเข้าขั้นโคม่าจากพิษโควิด-19 รวมทั้ง การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่เดือดร้อนหนัก

โดยนายกลุงตู่ได้แบ่งงานให้เป็นที่เรียบร้อย พร้อมมอบหมาย 5 ภารกิจสำคัญให้ ครม. ทั้งคณะ ได้แก่ 1.การเดินหน้าเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและคนที่ตกงาน 2.การหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างเหมาะสม และให้การช่วยเหลืออย่างตรงจุด

3.การสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจยังคงจ้างงานต่อไป 4.การวางแผนจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ และ 5.ทุกคนต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกๆ คน ซึ่งสุดท้ายแล้วคงต้องรอดูว่าจะสามารถปฏิบัติออกมาได้เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนอยากเห็นตอนนี้ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม.ชุดใหม่ ว่าจะมีอะไรออกมาช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม ซึ่งตามที่บรรดากูรู นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ไว้ รวมทั้งที่เอกชนเสนอเข้ามา หลักๆ แล้วยังพุ่งตรงไปที่การกระตุ้นการบริโภคและฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังน่าวิตก

ที่ดูแล้วมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว สนับสนุนให้คนไทยออกมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอให้ต่ออายุโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไปถึงสิ้นปีจากเดิมจะสิ้นสุดเดือน ต.ค. นี้ ส่วนเอกชนอยากให้ขยายถึงไตรมาส 1 ปีหน้า

แม้กระแสตอบรับอาจไม่เปรี้ยงเท่าที่ควร หลังปัจจุบันจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ยังไม่ถึง 6 แสนสิทธิ์ จากโควต้าทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ แต่เมื่อต่อเวลาออกไปน่าจะทำให้บรรยากาศโดยรวมคึกคักขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวพอดี

หากได้รับไฟเขียวจริงถือเป็นข่าวดีสำคัญผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวที่จะมีสภาพคล่องเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจ หุ้นที่จะได้รับอานิสงส์ไล่มาตั้งแต่ผู้ประกอบการสนามบิน, สายการบิน และกลุ่มโรงแรมที่พัก

อีกมาตรการที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ การกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ผ่านการปัดฝุ่นมาตรการอย่าง “ชิมช้อปใช้” หรือ การเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศคึกคักขึ้น หุ้นที่จะได้รับประโยชน์มีกลุ่มค้าปลีก บรรดาร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงกลุ่มท่องเที่ยว

ขณะที่บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ครม.ชุดใหม่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี จากเม็ดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจากที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงปัจจุบันยังเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้อนุมัติอีกราว 6.12 แสนล้านบาท และหากอนาคตรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มก็สามารถทำได้ เพราะหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 44.76% ของจีดีพี ยังต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี และหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็น 1.17% ของหนี้สาธารณะรวม ยังไม่เกินเพดานที่ 10% เช่นกัน

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ภาคเอกชนเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ การพักชำระหนี้ และมาตรการในฝั่งตลาดทุน

โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ มีกลุ่มค้าปลีก แนะนำ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI กลุ่มท่องเที่ยว มีบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP, บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC และ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ส่วนกลุ่มยานยนต์ แนะนำ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT และ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด