ประวิตรเร่งแผนผันน้ำห่วงแล้ง

ประวิตรเร่งแผนผันน้ำห่วงแล้ง

ประวิตร เร่งแผนโขง เลย ชี มูล เน้นผันน้ำสาระวินลงภูมิพลต้องคำนึงถึงความมั่นคง พร้อมเตรียมรับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จี้ทุกหน่วยงานตรวจสอบ เก็บผักตบ ขุดลอกคลองบึง พร้อมเก็บน้ำเตรียมใช้หน้าแล้ง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563      ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่ ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแผนการผันน้ำลงเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ การผันจากแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน และการผันจากสาระวิน ของเมียนมา ที่ทางจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า โดยอยู่ใกล้กับประเทศไทยมาก

 

ทั้งนี้การพิจารณาทั้ง2 แนวทางต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศด้วยนอกเหนือจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการผันน้ำโครงการโขง เลย ชี มูล ด้วยเพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน 

สำหรับสถานการณ์ฝนในปีนี้ ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบ 8 มาตรการเร่งด่วน  คือการคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม การปรับแผนการเพาะปลูกพืช การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร  การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การสำรวจแม่น้ำคูคลองและดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ และ สร้างการรับรู้กับประชาชน

 ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผนรองรับสถานการณ์น้ำในเชิงป้องกัน โดยได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวล่วงหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขยะมูลฝอย และผักตบชวา ที่สามารถกำจัดได้แล้วกว่า 500,000 ตัน ในบริเวณต่าง ๆ 143 แห่ง รวมไปถึงการเตรียมพื้นที่รับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา และการวางแผนกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ นอกจาก 8 มาตรการเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังได้มอบหมายให้มีการจัดทำแผนงานหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเป็นแผนงานระยะยาวที่เน้นเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย จำนวน 9 แผน ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญ

โดยเป็นการศึกษาอย่างรอบคอบให้ทุกแผนงานโครงการเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และได้มอบหมายให้ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เร่งบูรณาการแผนหลักดังกล่าวกับหน่วยงานปฏิบัติขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว   เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตร แก้ปัญหาและพัฒนาในทุกมิติต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จ ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในพื้นที่กับภาคราชการ และสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนด้วย

 

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้สนับสนุนงบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้งและเตรียมการรองรับอุทกภัย ในปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 29,160 โครงการ วงเงินรวม 23,748 ล้านบาท โดยความร่วมมือจาก 15 หน่วยงาน  และ   เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาอย่างทันท่วงที เมื่อวันที 13 ส.ค. 63 ครม.ยังได้อนุมัติงบกลางโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเพิ่มเติม รวม 11,893 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเร่งด่วนในปี 2563 อีกจำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ

ประกอบด้วย 1.ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 2.ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ 3.ระบบประปา 4.ระบบระบายน้ำชุมชน 5.ปรับปรุงคุณภาพน้ำ 6.เครื่องจักร เครื่องมือ โดยแบ่งออกเป็นโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 17 จังหวัด มีแผนงานที่มีสถานะพร้อมดำเนินการได้ทันที จำนวนทั้งสิ้น 2,135 แห่ง ได้แก่ ระบบประปา ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม และเครื่องจักร เครื่องมือ  ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนต่อไป