'ทีวีดิจิทัล' ยันเลิก 'เรียงช่อง' เสียหายมหาศาล จ่อฟ้อง กสทช.

'ทีวีดิจิทัล' ยันเลิก 'เรียงช่อง' เสียหายมหาศาล จ่อฟ้อง กสทช.

"ทีวีดิจิทัล" ยันเลิก "เรียงช่อง" เสียหายมหาศาล จ่อฟ้อง กสทช.

ยังไม่มีข้อสรุปในแนวทางแก้ไขปัญหา “เรียงช่อง” จาก กสทช. หลังองค์ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เมื่อวันอังคารที่ 11 ส.ค. ล่ม เหตุองค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่มีคำตอบให้ตามสัญญา ด้านสมาคมทีวีดิจิทัลผนึกพลังแถลงจุดยืน ยืนยันหากยกเลิก “ประกาศเรียงช่องปี 58” จะทำให้อุตสาหกรรมเสียหายมหาศาล เกิดผลกระทบทุกด้านไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด สุดท้ายต้องฟ้องร้อง กสทช.อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) นำทีมสมาชิกผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัล แถลงจุดยืนของอุตสาหกรรม หลังจากประเมินผลการประชุมย่อย (Focus group) ร่วมกับโครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ซึ่ง กสทช.จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ กสทช.เสนอยกช่อง 1-10 ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจัดเรียงช่องเองอิสระ ทีวีดิจิทัล อยู่หมายเลข 11-36 ตามเดิม แต่ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างความเสียหายของตน บวกกับท่าทีของ กสทช.ที่ยังไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลาที่รับปากไว้ จึงต้องประกาศจุดยืนและแนวทางการต่อสู้ในฐานะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากปัญหานี้ ทั้งหมด 4 ข้อ

นายสุภาพ ย้ำว่า จุดยืนสำคัญข้อแรกในการต่อสู้ของทีวีดิจิทัล คือการ เป็นสื่อหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นหัวใจสำคัญในการสะท้อนบริบทของสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อตามนโยบายของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ  เมื่อการเปลี่ยนผ่านของทีวีภาคพื้นดินไม่เป็นไปตามแผนงาน การคงไว้ซึ่ง ประกาศ “must carry” ปี 2555 และ ประกาศ ”เรียงช่อง” ปี 2558 ให้โครงข่ายการรับชมอื่นๆทั้งทีวีดาวเทียม และ เคเบิลทีวี นำช่องรายการของทีวีดิจิทัล ไปออกอากาศตรงตามหมายเลขการประมูล ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการ “ชดเชย” และ “ทดเแทน” โครงข่ายภาคพื้นดิน เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล ที่คนดูหาช่องไม่เจอซ้ำรอยในอดีตที่นับเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

ข้อที่สอง นายสุภาพ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบทีวีดิจิทัล  ทำให้ไม่มีผู้เสียหายจากการเรียงช่อง มีแต่ผู้แสวงประโยชน์ จากการยกเลิก “ประกาศเรียงช่อง” เนื่องจากปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ในโครงข่าย ของ ”ทีวีดาวเทียม” และ “เคเบิลทีวี” เป็นไปอย่างไม่จำกัด และสามารถจัดรูปแบบการเรียงช่องเป็นหมวดหมู่เพื่อบริการผู้ชมที่เป็นสมาชิกตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งผู้ประกอบการโครงข่ายก็ยืนยันเองว่า ปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการจัดลำดับและหมวดหมู่หมายเลขช่องกับสมาชิกตามความต้องการแต่ละพื้นที่แล้ว

แต่สำหรับ ทีวีดิจิทัล  ซึ่งเป็นสื่อหลักของชาติ “การเรียงช่อง” ตามลำดับหมายเลขการประมูลให้ตรงกันทั้งประเทศ ในทุกโครงข่ายทุกช่องทางการรับชม เป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เพราะเป็นเงื่อนไขหลักที่ผู้ประกอบการทุ่มเงินประมูลเพื่อสิทธิ์ในการเลือกหมายเลขช่องเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชม และต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับผู้ชมจนเกิดการจดจำ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอ เกิดความเสียหายต่อการอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างประเมินค่าไม่ได้

นายสุภาพ กล่าวถึงจุดยืนในข้อต่อไปว่า จากกรณีพิพาทนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศ “เรียงช่อง” ปี 2558 ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ย่อมเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างมากมายมหาศาล ช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิทัล  แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาต ส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิทัลในอนาคต กระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา หรือหากศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น จะก่อให้เกิดสุญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทันที ลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิม ผู้ชมสับสน หาช่องเดิมไม่เจอ เป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัล  สื่อหลักของชาติในที่สุด

ข้อสุดท้าย นายกสมาคมฯ ย้ำชัดว่า “ประกาศเรียงช่อง ปี 2558” คือหัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ย่อมเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน

159739699640

159739699649