มท. เร่งชงจัดเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุด

มท. เร่งชงจัดเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุด

"อนุพงษ์" ยันมหาดไทยเร่งเสนอ "ครม." ชงจัดเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 63 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการในส่วนในเกี่ยวข้อง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำเรื่องเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งใดและรูปแบบใดก่อน ส่วนในเรื่องงบประมาณหากผ่านพ้นหลังเดือน ก.ย.2563 ไปสู่ปีงบประมาณ 2454 ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังทุกท้องถิ่นไปแล้วให้เตรียมจัดการเลือกตั้ง ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนจะเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดก่อนเป็นอำนาจ ครม.พิจารณากำหนด

ผู้สื่อรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และพัฒนาการจังหวัดเข้าร่วมการประชุม โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในสภาวการณ์เช่นนี้ พวกเราทุกคนจำเป็นต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดินได้ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ได้ร่วมกันใช้ความรู้และใช้ภูมิปัญญาของไทย สร้างสิ่งที่มีคุณค่าตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยงบประมาณโครงการนี้มาจาก พ.ร.บ.กู้เงินฯ ดังนั้นขอให้ผู้ว่าฯ ช่วยดูแลให้ทุกขั้นตอนการดำเนินการต้องมีความโปร่งใส ไม่มีการโกงให้เกิดประโยชนสูงสุดแก่ประชาชน สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ และยกระดับเศรษฐกิจไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน

จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ได้มอบรางวัลบุคคลต้นแบบการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จำนวน 87 รางวัล

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” 2.การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลและพัฒนาครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน 3.การสร้างงานสร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน

4.การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน 5.การบูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6.การพัฒนาสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และ 7.การพัฒนาระบบดิจิทัลรองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูล ที่สามารถใช้ต่อยอดในประโยชน์ด้านต่างๆ ในอนาคต