ภารกิจนายกฯฝ่า 3 วิกฤติ โควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง

ภารกิจนายกฯฝ่า 3 วิกฤติ โควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง

สถานการณ์รัฐบาลปัจจุบัน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญหน้าวิกฤติสำคัญ 3 ส่วน ทั้งวิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมือง ซึ่จำเป็นต้องหาจุดร่วมของสังคม เพื่อประคองสถานการณ์ในช่วงที่มีหลายวิกฤติเข้ามาพร้อม

การระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ดี หลังจากประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 ส.ค.2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย รวมล่าสุดมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,359 ราย หายป่วยแล้ว 3,169 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 132 ราย และผู้เสียชีวิตสะสมเท่าเดิมคือ 58 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงหลังเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดได้ดีถึงการควบคุมสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย

ถึงแม้ว่าจะควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี แต่ยังมีความกังวลถึงการระบาดรอบที่ 2 เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งพบว่าการระบาดในรอบ 2 มักจะรุนแรงมากกว่ารอบแรก ซึ่งทำให้การจัดเตรียมงบประมาณของภาครัฐจะต้องคำนึงถึงการระบาดในรอบที่ 2 ด้วย และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยังมีการห้ามเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจึงคาดหวังได้ลำบาก ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับการส่งออกปี 2562

วิกฤติเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาคู่ขนานกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลจะแก้ไขคู่กัน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการแก้ปัญหา ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) เพื่อทำงานในลักษณะเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องสร้างบทบาทนำในการขับเคลื่อน ศบค.เศรษฐกิจให้ได้

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งทำให้ปัญหาการเจรจาต่อรองทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐลดระดับลงได้ แต่นายกรัฐมนตรีกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มมวลชนที่มีการแสดงออกเคลื่อนไหวในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีการเรียกร้องทางการเมืองในหลายประเด็น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำให้รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นและติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด

ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลจึงกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติที่สำคัญ 3 ส่วน คือ วิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเมือง ซึ่งวิกฤติทั้ง 3 เรื่องจะต้องทุ่มเทกำลังในการรับมือและแก้ปัญหา และคงไม่สามารถละเลยปัญหาหนึ่งปัญหาใดไปได้ โดยการรับมือวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่วิกฤติทางการเมืองที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องหาจุดร่วมของสังคมเพื่อประคองสถานการณ์ในช่วงที่มีหลายวิกฤติเข้ามาพร้อมกัน