‘การบินไทย’ อ่วมหนักครึ่งแรกปี63 ขาดทุนกว่า 2.8 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 336%

‘การบินไทย’ อ่วมหนักครึ่งแรกปี63 ขาดทุนกว่า 2.8 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 336%

“การบินไทย” เผยผลดำเนินงานครึ่งแรกปี 63 ขาดทุนสุทธิกว่า 2.8 หมื่นล้าน คิดเป็นผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 336% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลส่วนทุนติดลบกว่า 1.8 หมื่นล้าน แจงผลกระทบจากพิษโควิด ทำปริมาณขนส่งผู้โดยสารลดลง 99%

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ไตรมาสแรกปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 456 ล้านบาท โดยผลขาดทุนส่วนใหญ่เป็นของบริษัทใหญ่ 22,676 ล้านบาท คิดเป็นผลขาดทุนต่อหุ้น 10.39 บาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท

ส่วนไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 5,353 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,525 ล้านบาท โดยการขาดทุนสุทธิส่วนใหญ่เป็นของบริษัทใหญ่ 5,340 ล้านบาท คิดเป็นการขาดทุนต่อหุ้น 2.45 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนต่อหุ้น 3.15 บาท

เท่ากับว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสุทธิรวมกันราว 28,029 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 21,607 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 6,422 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นราว 336%

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 314,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค.2562 จำนวน 59,236 ล้านบาท หรือ 23.2% มีหนี้สิน 332,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 จำนวน 89,157 ล้านบาท หรือ 36.7% และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 18,155 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.2562 จำนวน 29,921 ล้านบาท หรือ 254.3%

การบินไทย แจ้งสาเหตุของผลดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิจำนวนมากว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกในไตรมาส 2 ของปี 2563 อย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ การเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก แม้ว่าในเดือนมิ.ย.2563 จะเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวจากการเดินทางภายในประเทศ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก 

สำหรับประเทศไทยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.-30มิ.ย.2563

บริษัทและบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ได้ยกเลิกเที่ยวบินแบบประจำทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ โดยบริษัทได้ยกเลิกทุกเส้นทางตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ในขณะที่ ไทยสมายล์แอร์เวย์ หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทางตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.2563 และส้นทางบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2563 และเริ่มกลับมาทำการบินอีกครั้ง เฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563

ในไตรมาส 2 ปี 2563 มีเหตุการณ์สำคัญต่อการดำเนินงานของ การบินไทย คือ กระทรวงการคลังได้จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท 3.17% ให้แก่กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลดลงจาก 51.03% เหลือ 47.86% ทำให้บริษัทพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลามกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ทำให้บริษัทอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว และได้ทำธุรกรรมบางอย่างได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของบริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค.2563

ในไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มงวดเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้มากที่สุด โดยไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำและเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสายลดลง 96.5% 

ส่วนปริมาณขนส่งผู้โดยสาร ลดลง 99.5% อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%

สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ ต่ำกว่าปีก่อน 96.1% ปริมาณขนส่งพัสดุภัณฑ์ต่ำกว่าปีก่อน 92.7% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 52.8% 

บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 37,604 ล้านบาท หรือ 96.4% รายได้จาการบริการอื่นๆ ลดลง 2,165 ล้านบาท หรือ 68.6% 

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 33,428 ล้านบาท หรือลดลง 67.4% สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งหรือจำนวนผู้โดยสารลดลงจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งและจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 13,701 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 6,589 ล้านบาท หรือ 92.6% 

นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ประกอบด้วย ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวรจำนวน 73 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 86 ล้านบาท  มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 7,422 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ผลดำไรสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิจำนวน 1,231 ล้านบาท