พื้นที่มหาวิทยาลัย หาทางออกให้ 'สังคม-การเมือง'

พื้นที่มหาวิทยาลัย หาทางออกให้ 'สังคม-การเมือง'

การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทั่งล่าสุดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 

ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเรียกร้อง และกิจกรรมที่พาดพิงสถาบัน จนถูกจับตาว่าจากนี้ไป สถาบันการศึกษาต่างๆ จะอนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งโรงเรียนหรือไม่ ล่าสุดมีท่าทีจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง(คนส.)ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม

เนื้อหาในแถลงการณ์ ลงวันที่ 13 ส.ค.2563 ระบุว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เพียงฝึกคนให้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพ ไม่ได้เป็นโรงงานผลิตแรงงานตามความต้องการของตลาด และไม่ได้เป็นหน่วยงานหล่อหลอมเจ้าหน้าที่ตามการบงการของรัฐ หากแต่เป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกที่มีคุณภาพให้กับสังคม ซึ่งไม่ได้หมายถึงทักษะในการท่องจำสิ่งที่สืบทอดกันมาในตำรา แต่หมายถึงความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ เพราะสังคมจะไม่สามารถเผชิญวิกฤติ ความเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายใหม่ๆ ได้ หากสมาชิกปราศจากคุณสมบัติเหล่านี้ จะมีก็แต่ผู้ที่ต้องการแช่แข็งสังคมหรือฝืนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่เช่นนี้

สังคมไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะสมาชิกที่มีความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์จึงยิ่งทวีความสำคัญตามไปด้วย 

นอกจากนี้ บทบาทดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตนักศึกษาในสถาบัน หากแต่หมายรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บนข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์เช่นนี้ ไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่ามหาวิทยาลัยสำหรับการให้สมาชิกในสังคมได้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบร่วมกันอย่างสันติ

ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการตั้งคำถามและพยายามพาสังคมไทยไปให้พ้นจากวิกฤติทางการเมืองที่สั่งสมมากว่าทศวรรษ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 10 ข้อของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่นับเป็นการตั้งคำถามและพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยอย่างสันติเช่นเดียวกัน 

ฉะนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการปราศรัยเกินกว่าที่แจ้งไว้ ด่วนตัดสินเอาเองว่าการปราศรัยไม่เหมาะสมขัดศีลธรรม หรือจะไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยต่อไป หากแต่ควรคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้เป็นหลัก

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมผู้มีรายชื่อแนบท้าย จึงเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในสังคมและรัฐดังนี้

1.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด รวมทั้งต้องไม่ถือว่าการจัดกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวเป็นความผิด เพราะการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมในการตั้งคำถามและเสนอทางออกให้กับสังคมนอกจากจะเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ยังเป็นการป้องกันนิสิตนักศึกษาจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากผลักไสให้พวกเขาไปจัดกิจกรรมด้านนอก

2.ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง พร้อมกับแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ มิใช่ปฏิเสธที่จะรับฟังด้วยอคติ ใส่ร้ายป้ายสีหรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน

  1. รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติและแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม และป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายนิสิตนักศึกษาเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในครรลองระบอบประชาธิปไตย

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

พร้อมทั้งได้ แนบรายชื่อนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงนักวิชาการอิสระ จำนวน 356 คนมาพร้อมกับข้อเสนอดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา 

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน เป็นต้น

 

 

“4 จุดยืน” สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกประชุมด่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (13 ส.ค.63) เรื่องเหตุการณ์การชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 ทั้งนี้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 29 คน ประกอบด้วย 1.ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร 2.ศ.(พิเศษ) ดร. คณิต ณ นคร 3. รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี 4.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 5.นางเกศรา มัญชุศรี 6.ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 7. ศ.ดร. จรัญ จันทลักขณา 8.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 9.นายนนทิกร กาญจนะจิตรา 10. ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย

11.ศ.นพ.ประเวศ วะสี 12.ศ.ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ 13.ดร.พิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล 14.ดร.พินิจ บุญเลิศ 15.นายมานิจ สุขสมจิตร 16.ศ.วุฒิสาร ตันไชย 17.ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญวัฒนา 18.ศ.(พิเศษ) หิรัญ รดีศรี 19. รศ.ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ 20. รศ.ดร. อนุชาติ พวงสำลี

21.รศ.ดร.ธีรเจีย ศิริพงษ์กุล 22. รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน 23. ผศ.ดร. ประชา คุณธรรมดี 24. ผศ.นพ.วีระยุทธ โถวประเสริฐ 25.นายเสริม กัลยารัตน์ 26.ศ.ดร. อัมพร ธำรงลักษณ์  27.นายสิทธิชัย พันเศษ 28. รศ.ดร. สมชาย สุภัทรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง 29.รศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย

ผลการประชุม ได้ออกแถลงการณ์ข้อสรุปประกาศจุดยืนดังนี้  1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันในจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการปกครองในระ บอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.มหาวิทยาลัยยอมรับในสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกของนักศึกษาภายใต้ขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

3.คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอรับไปดําเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบด้านเพื่อชี้แจงให้สังคมได้ทราบต่อไป 4.มหาวิทยาลัยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อในแนวทางการปรึกษาหารือกันแบบสันติวิธี

สภานิสิตจุฬาฯ เรียกร้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องท่าทีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุม วันที่ 13 ส.ค.2563 โดยมีเนื้อหาระบุว่า 

ตามที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม “คณะประชาชนปลดแอก” จำนวน 2 คน และยังปรากฏเป็นกระแสข่าวแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์เป็นการทั่วไปว่า มีรายชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ที่อยู่ในข่ายเตรียมถูกออกหมายจับรวม 30 คน ซึ่งมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าวด้วยนั้น

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความกังวลต่อท่าทีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีลักษณะเป็น การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) กล่าวคือ เป็นการฟ้องคดีที่มิได้มีจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาความยุติธรรม หรือรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากแต่เป็นไปเพื่อกดดันและขัดขวางไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิผลมากเพียงพอ 

การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว ยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม อันอาจก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ อีกมากมาย

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมตามหลักนิติรัฐนั้น จะต้องยึดเอาหลักกฎหมายและองค์ประกอบของความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นที่ตั้ง มิใช่ยึดถือเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้งแล้วพยายามหาข้อกฎหมายมาดำเนินคดีเพื่อหวังผลประการอื่น

การจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมใด ๆ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องยึดเอากฎหมายเป็นหลัก หากการชุมนุมในลักษณะใดไม่ครบองค์ประกอบความผิด เช่น การชุมนุมที่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สมควรดำเนินคดีข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะหวังผลประการอื่น

การดำเนินคดีในลักษณะนี้ ไม่ส่งผลดีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การดำเนินการลักษณะนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมนี้ต่างหากจึงจะเป็นการเสริมสร้างความปรองดองอันเป็นรากฐานที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

       สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่ยึดถือเอาตัวบุคคลผู้ต้องหาเป็นที่ตั้ง และเคารพถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนต่อไป