หนังเล่าโลก : Wet Season

หนังเล่าโลก : Wet Season

“ห้ามไม่ไหว หัวใจมันรักครู” เรื่องราวของครูสาวชาวมาเลย์ ผู้ข้ามแดนมาสอนภาษาจีนกลางที่โรงเรียนมัธยมชายล้วนในสิงคโปร์ ที่ไม่เพียงสะท้อนวิถีของลูกหลานเชื้อสายจีน ไปจนถึงสถานะของ "ทุเรียน" ราชาผลไม้ ที่เชื่อมสัมพันธ์ สิงคโปร์-มาเลย์

ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน “สิงคโปร์” เป็นประเทศที่คนไทยหลายคนไปเที่ยวกันจนปรุ ผู้เขียนแม้ไม่ค่อยได้ไปต่างประเทศ ก็มีโอกาสไปสิงคโปร์มากกว่าประเทศอื่น แต่ถ้าพูดเรื่องภาพยนตร์ ถ้าไม่ใช่ “คอหนัง” ตัวจริงแล้วอาจได้ชมภาพยนตร์สิงคโปร์กันเพียงไม่กี่เรื่อง

หลายปีก่อนตั้งใจจะดู Ilo Ilo ของผู้กำกับแอนโธนี เฉิน ก็พลาด มาคราวนี้เมื่อผลงานเรื่อง Wet Season ของผู้กำกับคนเดียวกันเข้าฉาย จึงพลาดไม่ได้ 

หนังบอกเล่าเรื่องราวของ ครูหลิม ครูสอนภาษาจีนกลางในโรงเรียนมัธยมชายล้วน เธอเป็นหญิงมาเลเซียเชื้อสายจีนที่แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่สิงคโปร์กับสามี ที่นี่เธอต้องแบกรับภาระทุกอย่างทั้งหน้าที่การสอนหนังสือ กลับบ้านต้องทำงานบ้านและดูแลพ่อสามีที่เป็นอัมพฤกษ์ ทั้งหมดนี้เธอทำได้อย่างยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ แต่มีอีกหน้าที่หนึ่งที่เธอเพียรทำมาตลอดชีวิตการแต่งงาน 8 ปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ “การมีลูก” ถือเป็นแรงกดดันของผู้หญิงเชื้อสายจีนในหลายๆ สังคม 

ปัญหาหนักหน่วงที่ว่ามาถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยความเอาแต่ใจของลูกศิษย์ชายคนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของครูหลิมมีทางออกและอับจนหนทางไปพร้อมๆ กัน

หากดูจากชื่อภาษาไทย “ห้ามไม่ไหว หัวใจมันรักครู” ก็คงเดากันออกว่าลูกศิษย์คนนี้ได้สร้างปัญหาน่าปวดหัวอะไรให้ครูหลิมผู้แสนดีบ้าง 

159731623246

ประเด็นหลักของเรื่องแน่นอนว่า เป็นเรื่องราวชีวิตครูหลิม แทรกกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมจีนภายในประเทศทันสมัยอย่างสิงคโปร์ที่ภาษาจีนถูกให้ความสำคัญน้อยลงทุกที สิ่งที่เห็นชัดอีกอย่างหนึ่งคือความใกล้ชิดระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย 

ครูหลิมจากบ้านที่มาเลเซียมาแล้วก็ยังติดตามข่าวสารบ้านเกิดอยู่เสมอ ภาพที่ปรากฏในข่าวโทรทัศน์คือการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาล จนแม่ของเธอต้องเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า ให้รีบจัดการเพื่อให้ได้สัญชาติสิงคโปร์ เพราะมาเลเซียไม่น่าอยู่อีกแล้ว การประท้วงดังกล่าวน่าจะหมายถึงการที่ประชาชนมาเลเซียหลายพันคนชุมนุมกันบนท้องถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กดดันนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคให้ลาออกจากข้อกล่าวหายักยอกเงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนวันเอ็มดีบี 

ไม่แน่ใจเพราะด้วยความชอบส่วนตัวหรือเปล่า ผู้เขียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ผ่านอะไรบางอย่าง นั่นคือ “ทุเรียน” คนสิงคโปร์ (รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่) ชอบรับประทานทุเรียนมาก และมาเลเซียก็เอาจริงเอาจังกับการส่งออกทุเรียน 

ครูหลิมมีพี่ชายไม่ค่อยเอาไหนอยู่หนึ่งคน ทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกส่งของข้ามไปมาระหว่างสองประเทศ สินค้าสำคัญที่นำมาส่งหนีไม่พ้น “ทุเรียน” เมื่อขับมายังสิงคโปร์ก็แวะมายืมเงินน้องสาว และไม่ลืมฝากราชาผลไม้จากมาเลเซียไว้ให้น้องสาวได้ลิ้มลอง เมื่อลูกศิษย์ตัวป่วนเห็นทุเรียนก็จ้องตาเป็นมัน ครูสาวใจดีก็ต้องอนุญาตให้รับประทาน ทั้งครูและนักเรียนลิ้มรสทุเรียนกันอย่างอิ่มเอมระหว่างสอนพิเศษ หรือแม้แต่การเฉลิมฉลองก็ต้องฉลองด้วยทุเรียน ดูจากในหนังลูกค้าสามารถไปร้านขายทุเรียนแล้วสั่งแกะรับประทานกันที่ร้านได้เลย เสร็จแล้วค่อยเรียกเช็กบิล

159731624530

เห็นสองฉากนี้แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ต้องคนสนิทกันจริงๆ ถึงจะร่วมรับประทานทุเรียนกันอย่างสนิทแนบแน่นได้แบบนี้ เพราะต้องใช้มือหยิบ รับประทานเสร็จแล้วต้องดูดนิ้วด้วยถึงจะครบถ้วนกระบวนความการรับประทานทุเรียน ผลไม้พื้นถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ https://www.tridge.com รายงานเมื่อเดือน ต.ค.2562 ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ปลูกทุเรียนในมาเลเซียเพิ่มขึ้นมาก เพราะเป็นผลไม้ทำกำไรดีให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออก โดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิง 65-70% ปลูกที่รัฐปาหังทางภาคกลางของมาเลเซีย ที่เป็นพื้นที่เชิงเขา อากาศอบอุ่น ปี 2561 มาเลเซียปลูกทุเรียนมูซังคิงได้ 18,000-25,000 ตัน คาดว่าผลผลิตจะทะลุ 40,000-50,000 ตันภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ตอนที่ต้องใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสั่งซื้อทุเรียนออนไลน์และบริการดิลิเวอรี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ชีวิตไม่ขาดรสชาติ

นอกจากทุเรียนสื่อสัมพันธ์แล้ว ความผูกพันผ่านบทเพลงก็มีให้เห็น ฉากซ้อมวงดุริยางค์ในโรงเรียนมีการซ้อมเพลง Rasa Sayang ที่คนไทยคุ้นหู เป็นเพลงพื้นบ้านภาษามาเลย์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนเพลงเครดิตท้ายเรื่องเป็นเพลง Burung Kakak Tua เพลงพื้นบ้านภาษามาเลย์ ที่นิยมในทั้ง 3 ประเทศ และคนไทยก็รู้จักเช่นเดียวกัน 

Wet Season เป็นภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ เข้าชิง 6 รางวัลม้าทองคำครั้งที่ 56 แต่ก็มีแง่มุมเล็กๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในหมู่เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างที่ได้กล่าวมา

ผู้เขียนไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งเป็นวันชาติสิงคโปร์ และก่อนหน้านั้นหนึ่งวันที่ 8 ส.ค.เป็นวันครบรอบการก่อตั้งอาเซียน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เห็นมิตรภาพแนบแน่นด้านวัฒนธรรมแทรกอยู่เป็นระยะๆ จึงถือเป็นการเลือกวันดูหนังที่ลงตัวโดยไม่จำเป็นต้องดูฤกษ์ดูยามแต่อย่างใด