ไฟเขียว ขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 7.8 พันล้านบาท 

ไฟเขียว ขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 7.8 พันล้านบาท 

ครม.อนุมัติขสมก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 7,895 ล้านบาท หลังการดำเนินงานในปี 64 ส่อขาดทุนอีก 3.3 หมื่นล้านบาท คลัง-สำนักงบฯจี้ ขสมก.คุมต้นทุนเพิ่มรายได้ 

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7,895 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ต่อไป 

ทั้งนี้ ขสมก.รายงานว่าในปี 2564 ขสมก.ประมาณการเงินสดรายรับรายจ่ายของขสมก. ว่า มีประมาณการรายรับเงินสด 9,579 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายเงินสด 42,665 ล้านบาทส่งผลให้ติดลบจำนวน 33,085 ล้านบาท ดังนั้นขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 7,895 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานและทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอในการให้บริการขนส่งสาธารณะ แยกเป็นนำไปใช้ชำระค่าเชื้อเพลิง 3,219 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,642 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,033ล้านบาท

159731193368

ที่ผ่านมาครม.เคยมีมติอนุมัติให้ขสมก.กู้เงินรวม 70,502 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้ มติครม.วันที่ 8 ส.ค.2560 อนุมัติให้ขสมก.กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมของรถปรับอากาศ ประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,833 ล้านบาท , 19ก.ย.2560 อนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 26,782 ล้านบาท 

6ก.พ.2561 อนุมัติให้ขสมก.กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 1 มี.ค.2661 วงเงิน 2,962 ล้านบาทและอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,013 ล้านบาท , 7ส.ค.2561 อนุมัติให้กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 15,374 ล้านบาท , 16ต.ค.2561 อนุมัติให้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 9,217 ล้านบาท และมติ ครม.วันที่ 4 มิ.ย.2562 ครม.อนุมัติให้ขสมก.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 11,319 ล้านบาท

159731195423

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ณ วันที่ 30 พ.ย. 2562 ขสมก.มีหนี้สินค้างชำระรวม 122,102 ล้านบาท มีสาเหตุหลักมาจากการที่ขสมก. เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริงและไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นได้ตามสภาวการณ์ปัจจุบัน รายละเอียดหนี้แยกเป็นดังนี้ หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 57,673 ล้านบาท, หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 56,318 ล้านบาท, หนี้ค่าเชื้อเพลิง 113 ล้านบาท , หนี้ค่าเหมาซ่อม 252 ล้านบาท, หนี้ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน 1,560 ล้านบาท , หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน 4,362 ล้านบาท และหนี้สินอื่นๆ 1,822 ล้านบาท

โดยในการกู้เงินเสริมสภาพคล่องในครั้งนี้กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมและขสมก. เร่งจัดทำและดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมโดยเร็วและไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า เห็นควรให้ขสมก.เร่งรัดดำเนินการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่ปรับปรุงใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะแนวทางในการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย และการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน เพื่อลดภาระของรัฐบาล