นวัตกรรม 'อีเพย์เม้นท์' จุดประกายศก.ดิจิทัลอาเซียน 

นวัตกรรม 'อีเพย์เม้นท์' จุดประกายศก.ดิจิทัลอาเซียน 

ประเทศไทยจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในแง่ปริมาณธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายภาคส่วน เริ่มเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อระบบชำระเงินดิจิทัล โดยเฉพาะมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นต่อการชำระเงินแบบ “touchless" หรือ ไร้สัมผัส ที่ช่วยรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่บังคับใช้ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาไปสู่ระบบชำระเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยีไร้สัมผัสอย่าง คิวอาร์โค้ด กำลังถูกใช้งานบนโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางแบบเรียลไทม์ การใช้งานที่ง่าย ความสะดวกเข้าถึงของระบบชำระเงินที่ใช้คิวอาร์โค้ดจะสำคัญมากต่อบุคคลทั่วไป และธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ผู้เล่นหลายรายในธุรกิจบริการชำระเงินเริ่มหันมาให้ความสนใจบริการเสริมที่ถูกเพิ่มเติมไว้ใน โมบายแอพ เว็บพอร์ทัล โซเชียลมีเดีย และช่องทางอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป บริการเหล่านี้ช่วยให้ธนาคาร คนกลาง (intermediaries) และผู้ประกอบการเพิ่มเติมฟังก์ชั่นที่หลากหลาย รองรับระบบนิเวศน์ชำระเงินดิจิทัลที่มีปริมาณธุรกรรมสูงและใช้ข้อมูลจำนวนมาก

คาด“ไทย” ธุรกรรมดิจิทัลโตแรง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบางประเทศที่เป็นผู้นำการใช้บริการเสริมดิจิทัล เช่น PayNow ในสิงคโปร์ พร้อมเพย์ ในไทย และ DuitNow ในมาเลเซีย ประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีเรื่องการปรับปรุงระบบชำระเงินให้ทันสมัย การปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพิ่มมากขึ้นช่วยรองรับการสื่อสารระหว่างเครือข่ายในประเทศ เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบชำระเงินในระดับภูมิภาคให้สมบูรณ์มากขึ้น

ACI Worldwide ประเมินว่า ไทยจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในแง่ปริมาณธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ คาดว่าจะเติบโตจาก 2.6 พันล้านในปี 2562 เป็น 12.5 พันล้านในปี 2567 จากโครงการขยายการเข้าถึงบริการการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงบริการพร้อมเพย์ที่เปิดตัวเมื่อปี 2559 ซึ่งระบบพร้อมเพย์ของไทย ตั้งเป้าพัฒนาระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่ใช้งานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ขณะที่ ระบบชำระเงินในธุรกิจค้าปลีกยังมีการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าระบบชำระเงินสำหรับองค์กรธุรกิจหรือค้าส่ง 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียเปลี่ยนมาใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์อย่างรวดเร็ว เพราะความสะดวกในการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย แน่นอนว่า ผู้ให้บริการธุรกรรมการชำระเงินจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาฐานการให้บริการที่นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะคาดการณ์โอกาสการให้บริการข้ามพรมแดน