อ่าน 'วรรณกรรมคลาสสิค' แล้วได้อะไร?

อ่าน 'วรรณกรรมคลาสสิค' แล้วได้อะไร?

เปิดหนังสืออ่านวรรณกรรมคลาสสิค ไม่ว่าจะเป็น "มหากาพย์เรื่องอีเลียด" วรรณกรรมยุค 3 พันปีที่แล้ว หรือ "โอดิสซูส" เรื่องราวสงครามกรุงทรอย วรรณกรรมเหล่านี้สะท้อนอะไรให้เราบ้าง?

เบื่อละครการเมืองน้ำเน่าเรื่องตำรวจเป็นเจ้าพ่อมาเฟียเสียเอง ไปอ่านวรรณกรรมคลาสิคยังสนุกกว่า และเรียนรู้เรื่องชีวิต/สังคมได้ได้มาก

เรื่องหนึ่งที่น่าอ่านคือมหากาพย์เรื่องอีเลียด (บทเพลงเมืองอีเลียมหรือเมืองทรอย) วรรณกรรมยุค 3 พันปีที่แล้ว ที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมโลกยุคต่อมา โดยเฉพาะตะวันตกมากที่สุด เป็นนวนิยายบทร้อยกรองเกี่ยวกับวีรกรรมของบรรพบุรุษ (Epic ที่เราแปลว่ามหากาพย์) ชาวกรีกในการทำสงครามกับเมืองทรอย ที่มีการเล่าต่อ เขียนใหม่ในรูปแบบต่างๆ จนเป็นเรื่องราวที่คนทั่วโลกรู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง 

วรรณกรรมเรื่องอีเลียดฉบับดั้งเดิมของโฮเมอร์ ที่เวธัส โพธามาริก แปลจากภาษากรีกและสำนักพิมพ์ทับหนังสือจัดพิมพ์ ใช้ภาษากวีที่มีความสละสลวย คมคาย ความสง่างามของวาทศิลป์ และความตื่นเต้นแบบละครมากกว่าเรื่องเล่าแบบร้อยแก้วเล่มที่เขียนทีหลังมาก แม้จะเป็นหนังสือที่หนาและบางฉากเช่นตั้งทัพและรบกัน จะบรรยายตัวละครจำนวนมากอย่างละเอียดจนออกจะน่าเบื่อบ้าง แต่ถึงจะอ่านข้ามช่วงตอนพวกนี้ไปบ้างก็ยังคงไม่พลาดฉาก เนื้อหา คารมที่สำคัญๆ

วรรณกรรมเรื่องนี้เข้าใจกันว่ามาจากการเล่านิทานแบบขับลำนำกันต่อๆ มา แต่ดำเนินเรื่องแบบรวบรัด ที่ทำให้ฉับไวน่าสนใจอยู่มากทีเดียว เสมือนภาพยนตร์สมัยใหม่ที่เน้นฉากเหตุการณ์สำคัญที่น่าระลึกใจ แล้วค่อยใช้วิธีเล่าย้อนหลัง เพื่อให้ผู้อ่าน (หรือผู้ฟังสมัยก่อน) ตามเรื่องราวขนาดยาวทั้งหมดได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องหลักคือความโกรธแค้นของอาคิลลิส นักรบที่เก่งที่สุดของฝ่ายกรีก ที่ถูกอากาเมมนอน แม่ทัพใหญ่ฝ่ายพันธมิตรกรีกยึดผู้หญิงที่เคยเป็นสมบัติของเขาไป อาคิลลิสประท้วงด้วยการนั่งอยูที่ค่ายไม่ออกไปช่วยรบ ทำให้ฝ่ายทรอยที่มีเฮคเตอร์เป็นนักรบที่เก่งที่สุดฮึกเหิม กรีกพ่ายแพ้เสียหายหนัก จนเมื่อเพื่อนสนิทของอาคิลลิสถูกฆ่าตาย อาคิลลิสจึงเข้ารบตามฆ่าเฮคเตอร์เพื่อแก้แค้นแทนเพื่อน พวกทรอยเสียขวัญกลับไปตั้งหลักในเมือง

เนื้อหาในมหากาพย์เล่มนี้เน้นเหตุการณ์สงคราม (ที่ดำเนินมา 10 ปี) ช่วงปีสุดท้าย เพียง 10 กว่าวัน แต่มีความขัดแย้งแบบดราม่า (ละคร) สูง พวกเทพเจ้าเองก็เลือกเข้าข้างแบ่งเป็น 2 ฝ่ายด้วย มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึก โวหารของตัวละครที่สำคัญหลายตอนที่น่าสนใจ

อีเลียดจบเรื่องแค่อาคิลลิสฆ่าเฮคเตอร์ได้ และต่อมายอมคืนศพให้ฝ่ายทรอยและ 2 ฝ่ายตกลงพักรบกันเพื่อให้ทรอยจัดงานศพเฮคเตอร์ราวสิบวัน ผู้เขียน (โฮเมอร์) ใช้วิธีเล่าย้อนหลัง

เรื่องสงครามกรุงทรอยต่อมาในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เรื่อง โอดิสซูส (แปลจากภาษาอังกฤษ โดยสุริยฉัตร ชัยมงคล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ) เรื่องการแล่นเรือกลับบ้านของโอดิสซูส (หรือยูลิซิส) นักรบเจ้าเมืองอิธะกะของกรีก หลังจากพวกกรีกเอาชนะเมืองทรอยได้แล้ว โอดิสซูสถูกเทพเจ้าที่โกรธ กลั่นแกล้งให้ต้องร่อนเร่ผจญภัยอยู่อีก 10 ปี กว่าจะเดินทางถึงบ้าน เล่มหลังนี้บางกว่า เรื่องราวอ่านได้ง่ายและสนุกกว่า

วรรณกรรมนั้นสะท้อนสังคมในทางใดทางหนึ่ง แม้จะแต่งเติมด้วยจินตนาการของผู้เขียน ก็สะท้อนความคิดความเชื่อของผู้เขียนและความเชื่อของประชาชนทั่วไปในยุคเดียวกันด้วย

กรีกในยุค 3 พันปีที่แล้ว เป็นยุคที่มีนครรัฐหรือเมืองต่างๆ ที่มีเจ้าเมืองปกครองแต่ละเมืองเป็นอิสระในระดับหนึ่ง มีสงครามเกิดขึ้นเป็นประจำ สงครามคือการทำมาหากินแบบปล้นสะดมโภคทรัพย์ของเมืองอื่นวิธีหนึ่ง รวมทั้งจับเอาผู้คนมาเป็นทาสรับใช้ด้วย ชนชั้นผู้ปกครองจึงสร้างค่านิยมยกย่องความกล้าหาญของนักรบ (ผู้ชาย) ในการทำสงครามมาก ค่านิยมนี้สอดคล้องสำหรับเมืองที่ต้องป้องกันตนเองจากการรุกรานของคนอื่นด้วย

นอกจากนี้ก็มีค่านิยมเรื่องศักดิ์ศรี การเหยียดผู้หญิงว่าต่ำกว่าผู้ชาย การเหยียดทาสคนชั้นต่ำ ซึ่งเป็นค่านิยมแบบระบบศักดินาคล้ายๆ กันทั่วโลก แต่ก็มีค่านิยมของชนเผ่าในเรื่องความรักญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนจากเมืองเดียวกันหรือชาติพันธุ์เดียวกันอยู่

คนยุคก่อนไม่เข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุ น้ำท่วม จึงเชื่อว่ามีเทพเจ้าหลายองค์เป็นผู้บันดาล การนับถือและบูชาเทพเจ้าผู้อยู่ยงคงกระพันไม่ตายเหมือนมนุษย์และมีอิทธิฤทธิ์มาก เป็นเรื่องที่สังคมยุคโบราณหลายแห่งทำกัน แต่พวกกรีกแต่งเรื่องเทพเจ้าแต่ละตนให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องทำสงคราม การผจญภัยของคนสำคัญๆ มาก ตามแต่อารมณ์ความพอใจไม่พอใจของเทพเจ้าแต่ละตน เทพเจ้าส่วนใหญ่คือผู้ชายยังเที่ยวไปร่วมหลับนอนกับมนุษย์จนมีลูกกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ ที่กลายเป็นตำนาน เทพนิยาย บทละคร บทกวีต่อมามากมาย

พฤติกรรมของเทพเจ้าในวรรณกรรมและบทละครของกรีกยุคโบราณ มีความโลภ โกรธ หลง อิจฉา ฯลฯ เหมือนชนชั้นมีอำนาจ ที่ไม่ต่างจากมนุษย์ อาจจะเป็นเผด็จการเอาแต่ใจตัวเองมากกว่า เพราะพวกเขามีอำนาจอิทธิฤทธิ์มาก (เหาะเหินเดินอากาศ แปลงร่าง  และแสดงอภินิหารได้หลายอย่าง) และยังอยู่คงกระพันไม่ตายด้วย พวกเขาจึงไม่ต้องเกรงกลัวอะไรเลย มนุษย์ (ชาวกรีกยุคนั้น) แม้จะกลัวเกรงเทพเจ้า แต่ก็รู้สึกและวิจารณ์เทพเจ้าบ้างเหมือนกัน ในวรรณกรรมของโฮเมอร์ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าหน่อยไม่ค่อยวิจารณ์มาก แต่ในวรรณกรรมบทละครยุคที่นครเอเธนส์เป็นประชาธิปไตย (500 ปีก่อนค.ศ.) มีนักคิดนักเขียนนักปรัชญาที่คิดเรื่องเหตุผล เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น วิจารณ์เทพเจ้ามากกว่า รวมทั้งวิจารณ์เรื่องความอหังการของตัวละครมากกว่าจะชื่นชมวีรกรรมแบบเป็นนักรบเก่งกาจด้วย

โดยเปรียบเทียบแล้ว ผมคิดว่าบทละครโศกนาฏกรรมยุคคลาสสิคของกรีก โดยกวีนักเขียนยิ่งใหญ่อย่างอาคิลัส โสพีคิส ยูรีพีเดส วิเคราะห์ทั้งคนและเทพเจ้าได้ลึกและก้าวหน้ากว่ายุคโฮเมอร์ที่ค่อนข้างเป็นวรรณกรรมศักดินา แม้งานของโฮเมอร์จะมีความงามความไพเราะ กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความรักเมียรักลูกที่สร้างความสะเทือนใจได้อยู่บ้างก็ตาม จากวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ พวกชนชั้นนำของกรีกยุคโบราณ แม้จะดูป่าเถื่อน โหด แต่ก็มีคาแรคเตอร์ (อุปนิสัยใจคอ) แบบมีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ มีแนวคิดอุดมการ์ณที่เป็นตัวของตัวเอง อย่างเข้าใจได้ พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ดูมีเนื้อหนังสมจริง มีความสง่างาม น่าสนใจกว่าพวกนักการเมืองเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของไทยที่กระล่อน โกหกเอาตัวรอดไปวันๆ ในยุคนี้มาก