ชง 'นิรโทษกรรม' ลดขัดแย้ง

ชง 'นิรโทษกรรม' ลดขัดแย้ง

กมธ.กฎหมาย ชงวาระนิรโทษกรรมลดขัดแย้ง-จี้รัฐแก้รัฐบาลเปิดทางตั้งส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญเร่งด่วน ขณะที่ 120 คณาจารย์ เข้าชื่อหนุนม็อบมธ. อ้างชุมนุมตามสิทธิ-ข้อเสนออยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ กห.เชื่อเจตนาบริสุทธิ์ เตือนระวังตกเป็นเครื่องมือการเมือง 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(13 ส.ค.)มีวาระพิจารณารายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติซึ่งมีเนื้อหาและสาระสำคัญเป็นข้อเสนอแนะ รวม 9 ข้อ คือ1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือกติกาที่ทำให้เกิดความเห็นต่าง เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง โดยนายกฯ ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนต่อกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จขอให้รัฐบาลเสียสละ ยุบสภาทันที และจัดเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ ทั้งนี้เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนทำรัฐธรรมนูญ

2.นิรโทษกรรมแบ่งเป็นนิรโทษกรรมคดีการเมืองและคดีอาญาที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง ปัจจุบันยกเว้นคดีทุจริตและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าการนิรโทษกรรมเฉพาะคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง แยกเป็น 2 กลุ่มคือคดีที่รัฐกระทำต่อบุคคล และ คดีที่บุคคลละเมิดต่อบุคคลโดยตราเป็นกฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด

3.ต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย โดยไม่จำกัดการเยียวยาเป็นตัวเงินเท่านั้น 4.การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม รัฐต้องรับรองและประกันเสรีภาพการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่แทรกแซงหรือก่อกวนหรือประทุษร้ายจากบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันการชุมนุมต้องมีขอบเขตจำกัดตามรัฐธรรมนูญกำหนด

5. ให้ผู้นำทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายกที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงและนายกฯ​ที่บริหารประเทศปัจจุบัน แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงด้วยการขอโทษ 6.ใช้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระบวนยุติธรรมขององค์กรอิสระ และศาล 7. รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวกับความขัดแย้งต้องรักษาบรรยากาศของความปรองดอง สมานฉันท์ และร่วมบริหารประเทศภายใต้กรอบ เคารพความเห็นต่าง

8.ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อมวลชน ต้องยึดการทำงานภายใต้กรอบความรับผิดชอบตามจริยธรรมและหลักวิชาชีพ ไม่บิดเบือน และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม รวมถึงไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่ทำให้เกิดการยั่วยุ เกลียดชัง

และ 9.ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ เสนอเพิ่มคำถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพ ว่า“จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร” เพราะการแทรกแซงการเมืองของกองทัพผ่านการรัฐประหาร ทำให้สังคมขาดการเรียนรู้ต่อการจัดการวิกฤตการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และสร้างความไม่พอใจจากบุคคลที่ถูกคุกคาม 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายงานฉบับดังกล่าว มีความเห็นและข้อเสนอแนะของแกนนำชุมนุมที่น่าสนใจ อาทินายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.ระบุตอนหนึ่ง โดยเชื่อว่าการพูดคุยคือทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมา ความปรองดองถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่มีใครให้ความสำคัญ และผู้มีอำนาจไม่ทำจริง

120อ.เข้าชื่อหนุนม็อบธรรมศาสตร์

ส่วนความเคลื่อนไหวการชุมนุมกลุ่ม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ล่าสุดเพจ“องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”เผยแพร่แถลงการณ์ของคณาจารย์จำนวน120คน เนื้อหาโดยสรุปว่า สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และการปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค.ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย โดยมาตรา 34ของรัฐธรรมนูญระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ” 

อีกทั้งเห็นว่าการแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้ง10ประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญา ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กห.หวั่นม็อบเป็นเครื่องมือการเมือง

วันเดียวกัน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปลุกชี้นำไปสู่การเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อนอันจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม ย้ำว่า การทำงานของฝ่ายความมั่นคงยังยึดมั่นและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญทั้งนี้

การชุมนุมที่แฝงไปด้วยข้อเรียกร้องที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนดังกล่าวจึงอาจนำมาซึ่งการเผชิญหน้าซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันเตือนสติและช่วยควบคุมอารมณ์ทางสังคม

“ฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อมั่นว่าการแสดงออกทางความคิดของนักเรียนนิสิตนักศึกษาถือเป็นพลังบริสุทธิ์ของสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่องและเป็นพัฒนาการทางสังคมที่สานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นยากจะแยกกันได้และมั่นใจว่าเราคนไทยทุกคนต่างหนักแน่นและมีดุลยพินิจดีพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มใดๆ”โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

“เฉลิม”ชง5มาตราแก้รัฐธรรมนูญ

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุดมีความเห็นจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2563 เพื่อมาบังคับใช้ โดยมีรายละเอียดทั้งหมด5 มาตรา อาทิ การให้ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 และให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทนไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับถาวรต่อไป

การให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ และให้จัดการเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไปพลางก่อนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบ เชื่อว่าร่างรธน.ฉบับนี้จะช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และสร้างความชอบธรรมให้กับประชาชน

กมธ.แก้รธน.ชี้เป็นไปไม่ได้

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวว่าข้อเสนอของร.ต.อ.เฉลิม เป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ ร.ต.อ.เฉลิมมีสิทธิเสนอความเห็นได้ในฐานะประชาชน แต่เมื่อข้อเสนอไม่เข้าหลักเกณฑ์เชื่อว่าจะไม่มีผลใดๆ และไม่สามารถดำเนินงานสานต่อได้ อีกทั้งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่นำข้อเสนอดังกล่าวบรรจุเป็นญัตติหรือข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เตรียมไว้แล้ว

 ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาเปิดเผยถึงผลการประชุมกมธ. เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ซึ่งสิ่งที่กมธ.เป็นห่วง คือ หากให้แก้ไขทั้งฉบับแล้ว หมวด 1 และหมวด 2 จะเป็นอย่างไร และกังวลมากเมื่อทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค.ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรกำหนดประเด็น มาตราให้ชัดเจน ยืนยันว่า ส.ว.​ไม่ห่วงจะถูกริบอำนาจโหวตนายกฯ​เพราะเมื่อพ้น 5 ปี อำนาจดังกล่าวจะสิ้นสุดลง