'เลือกตั้งท้องถิ่น' ใคร? ไม่พร้อม

'เลือกตั้งท้องถิ่น' ใคร? ไม่พร้อม

หากมองข้ามของการโต้ตอบ ระหว่าง “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” กับ “ปกรณ์ มหรรณพ และ ฐิติเชฎฐ์ นุชนาฎ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ถึง ความพร้อมต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

 ตามสาระของผู้นำองค์กรทั้ง 2 ออกโรงโยนเรื่อง ไป-มา ว่า รอให้อีกฝั่ง เตรียมงานให้พร้อม ขณะที่องค์กรของตัวเองนั้น ตั้งรับ และเตรียมพร้อมไว้นานแล้ว

คือ ความจริงใจต่อการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เพราะก่อนจะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ด่านแรก คือ คำประกาศจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.)” ที่เห็นชอบ และไฟเขียวให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น

ตามที่บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 16 เมษายน 2562บทเฉพาะกาล มาตรา 142 กำหนดว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลัง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้เป็นอำนาจของ ครม. เป็นผู้อนุมัติให้เลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด จากนั้นให้แจ้ง กกต. ทราบเพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง

แต่ก่อนที่ ครม. จะไฟเขียว แน่นอนว่า มี 2 องค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ กกต. ฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ที่ต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้ง และ กระทรวงมหาดไทย ฐานะผู้ควบคุมและกำกับองค์กรท้องถิ่นในปัจจุบัน ที่ต้องดูเรื่องงบประมาณ และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การยกระดับฐานะขององค์กรท้องถิ่น ที่เหลืออีก 4 แห่ง รวมถึงการแบ่งเขตที่มีปัญหาในพื้นที่ จ.ลพบุรี

 

กับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง 4 แบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น 7,852 แห่ง แม้จะมีความเยอะ และต้องใช้บุคลากรจัดการเลือกตั้งจำนวนมาก ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างสำคัญของ ครม.ที่ต้องดำเนินการ หากให้การท้องถิ่น เป็นรากฐานของการยกระดับประเทศ

แม้กฎหมายไม่ได้กำหนด หรือ ระเบียบต่างๆ จะไม่ได้กำหนดห้วงเวลาของการจัดการเลือกตั้ง ภายหลังมีกฎหมายบังคับใช้ แต่โดยข้อเรียกร้องของ ฝ่ายการเมือง ที่อ้างถึงสามัญสำนึกและความตระหนักต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการปฏิรูปที่มุ่งหวัง ควรเร่งดำเนินการ

ไม่ใช่แช่แข็งองค์กรท้องถิ่น นานถึง 6 ปี นับจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2557

อย่างไรก็ดี มีเสียงวิจารณ์ สำหรับการแช่แข็งองค์กรท้องถิ่นนั้น คือ ภาพของความไม่พร้อมของผู้นำ ผู้มีอำนาจ ที่ต้องการ วางกลไก ซึ่งนำไปสู่การมี และการครอบครองอำนาจไว้กับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น

ทำให้ เวลาที่ต้องเนิ่นช้า คือ การบรรจงวางหมาก และบันได ซึ่งเป็นกลไกปูทางให้ เกิดพื้นที่บริวารของตนเอง เพื่อเสริมการได้มาซึ่งอำนาจและการอยู่ในอำนาจ

ดังนั้นเงื่อนไขที่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดช้า ไม่ใช่ว่า เพราะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมีกว่า 7,852 แห่ง ใช้บุคลากรที่พร้อมจัดเลือกตั้ง และใช้งบประมาณเลือกตั้งที่มาก และในสถานการณ์โควิดต้องคำนึงถึงมาตรการทางสาธารณสุข ที่ต้องเตรียมพร้อมมากกว่าเลือกตั้งไหน

แต่คือ ความไม่พร้อมของ คนบางกลุ่มที่ต้องการฮุบอำนาจ โดยไม่สนใจหลักการพื้นฐานของการปกครองที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เข้มแข็ง.