ALL พลิกเกมสู้วิกฤติโควิด เร่ง ‘ระบายสต็อก-ตุนเงินสด’

ALL พลิกเกมสู้วิกฤติโควิด  เร่ง ‘ระบายสต็อก-ตุนเงินสด’

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยแม้จะควบคุมได้ค่อนข้างดี แต่สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่คลี่คลายลง ในบางประเทศดูเลวร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ

ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะต่อภาคธุรกิจต้องเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลพวงที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้

“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ธนากร ธนวริทธิ์” ระธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่โดนผลกระทบจากไวรัสตัวนี้แบบเต็มๆ โดย “ธนากร” มาเล่าถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงไป พร้อมชี้ให้เห็นถึงแผนงานที่จะนำพาบริษัทให้เติบโตต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติโควิดในครั้งนี้

โดยในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจเจ้าตัวยอมรับว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้มุมมองต่อการบริหารธุรกิจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะการวางแผนเรื่องกระแสเงินสดของบริษัทที่ต้องเตรียมกันสำรองไว้มากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่เตรียมไว้รองรับแค่ 1 ปี อาจต้องเพิ่มเป็น 2 ปีเพื่อให้รองรับกับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นเช่นนี้

เรื่องถัดมา คือ แผนการขยายการเติบโตของธุรกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เร่งสร้างหรือขยายโครงการใหม่ๆเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็วขึ้น แต่หลังจากนี้อาจต้องกลับมาเน้นถึงการเติบโตแบบคอนเซอร์เวทีฟ โดยมีการกระจายการลงทุนที่หลายๆ ทั้งโครงการแนวสูงและแนวราบ ซึ่งไม่ใช่แค่เปิดโครงการใหม่เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องเร่งระบายสต็อกเพื่อให้รักษาสภาพคล่องให้ดีมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal ซึ่งอาจทำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำโครงการอสังหาฯเป็นเสร็จก่อนแล้วจึงขายหรือเน้นโครงการแนวราบมากขึ้น

“มุมมองต่อการทำธุรกิจหลังจากนี้ต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นกันทุกอุตสาหกรรมไม่เฉพาะแต่กลุ่มอสังหาฯ ซึ่งจริงๆถือว่าเรายังโชคดีที่ยังมียอดขายบางโครงการได้ เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมโรงแรมที่อาจถูกผลกระทบมากกว่าเรามาก”

สำหรับลูกค้ากลุ่มต่างชาตินั้น ธนากร บอกว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่ยังโอนเงินเข้ามาให้กับบริษัทอยู่ จะมีลูกค้าที่ขอยกเลิกการซื้อไปก็เพียงเล็กน้อยแค่ 1-2% เท่านั้น โดยที่ผ่านมาบริษัทกลุ่มลูกค้าต่างชาติประมาณ 20% แต่อาจมีผลต่อเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาได้บ้าง เพราะทำให้บริษัทยังไม่สามารถรับรู้ยอดโอนฯในส่วนนี้ได้ 

ส่วนสำนักงานขายในต่างประเทศบริษัทได้ปิดดำเนินการไปแล้ว แต่ยังมีตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศภายใต้บริษัท ไทย ดี เรียลเอสเตท จำกัด (Thai D) ซึ่ง ALL ถือหุ้น 100%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในวิกฤติครั้งนี้ยังมีโอกาสที่ดี เพราะจะส่งผลให้นักเก็งกำไรในกลุ่มอสังหาฯจะค่อยๆหายไป และที่เหลือจะเป็น “เรียล ดีมานด์” หรือคนที่ต้องการซื้อบ้านเพื่ออาศัยอยู่จริง ซึ่งจะทำให้โครงการที่สร้างเสร็จแล้วจะมียอดขายที่ดีมากขึ้น สะท้อนได้จากช่วงปัจจุบันที่ยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวราบ

ส่วนมุมมองต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ธนากร เชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว พร้อมคาดว่าภายในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะรีบาวด์ขึ้น เพราะผู้ประกอบการไม่ได้มีการเปิดโครงการใหม่ๆเพิ่มและสต็อกอสังหาฯลดลง รวมถึงคาดว่าอานิสงส์จากแรงซื้อจากลูกค้าต่างชาติในอนาคตจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าจากจีน,ฮ่องกง และไต้หวัน

 สำหรับแผนงานในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เขาบอกว่า จะพยายามโฟกัสสต็อกที่มีอยู่และเน้นขายโครงการที่สามารถโอนได้ภายในปีนี้เป็นหลัก โดยปัจจุบันมีมูลค่าโครงการที่รอโอน (Backlog) รวมอยู่ประมาณ 11,500 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยอดขายที่รอโอนปีนี้ราว 5,700 ล้านบาท และที่เหลือคาดว่าจะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2564-2565 

นอกจากนี้คาดรายได้ปี 2563 จะทำได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 2,918 ล้านบาท และคาดจะมีกำไรสุทธิจำนวน 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ทำได้ 501 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้ายอดขาย (พรีเซล) ประมาณ 5,000 ล้านบาท