พระราชดำริ 'พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 'อนุรักษ์ท้องทะเล ช่วยฟื้นฟูการประมงชายฝั่งจ.นราธิวาส

พระราชดำริ 'พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 'อนุรักษ์ท้องทะเล ช่วยฟื้นฟูการประมงชายฝั่งจ.นราธิวาส

โครงการพระราชดำริพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานโครงการฟื้นธรรมชาติ และทรัพยากรชายฝั่งทะเล ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงบ้านทอน จ.นราธิวาส ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ "ปลายด้ามขวาน"ให้มีรายได้มั่นคงและยั่งยืน

นายรอสาดี ดาโอ๊ะ ประธานกลุ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านในบริเวณหาดบ้านทอนดีใจที่ทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ในพื้นที่ได้กลับอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีอาชีพประมง มีรายได้จากการจับสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง 

ความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2545

“เมื่อมีโครงการฯ เข้ามา ทำให้สัตว์เพิ่มมากขึ้น สัตว์ที่เคยหายไปก็กลับมา ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอยหวาน พวกหมึก ปลาจาระเม็ด เต่าทะเล ปลาอินทรีย์ ปลากุเลา จากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน ปริมาณเรือที่ออกทะเลก็มีให้เห็นมากขึ้นเป็นสองเท่า บางรายลาออกจากงาน กลับจากมาเลเซีย ซื้อเรือลำละ 1-2 หมื่นบาท เอามาออกทะเลเองและเลิกเป็นลูกเรือรับจ้าง รายได้สูงสุดต่อวัน 10,000 บาท แต่อย่างไม่ได้ก็คือไม่ได้เลยเพราะช่วงนี้แมงกะพรุนเยอะปลาไม่ค่อยมี ชาวประมงทุกวันนี้ใส่ทอง ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจากแต่ก่อนที่ไม่มีรายได้ นอกเหนือจากนั้นรู้สึกภูมิใจในฐานะชาวทะเล ที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายทรัพยากรใต้ทะเล ด้วยการหาเลี้ยงชีพ”

159719966499

สำหรับหมู่บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ถือเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล คือชายหาดบ้านทอน ซึ่งเป็นชายหาดยาวขาวสะอาด และยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีลักษณะเป็นหมู่บ้านประมง อาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่จึงทำการประมงเป็นอาชีพหลัก เดิมที่ผ่านมาทะเลบ้านทอนเป็นทะเลที่มีแนวโล่ง เป็นทางผ่านของสัตว์ทะเล ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และสืบเนื่องจากมีการจับสัตว์ทะเลกันมาก ทำให้จำนวนสัตว์ทะเลลดน้อยลง จึงมีการจัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง เมื่อปี 2539 โดยมีการนำเอาวัสดุเหลือใช้ เช่น หินบนภูเขา มาทิ้งในทะเล ทำแนวปะการัง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล

ต่อมาในปี 2545 มีโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระราชเสาวณีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ภายใต้โครงการมีการวางแนวปะการังเทียม ตามความต้องการของชุมชนนั้นๆ สำหรับการวางแนวปะการังเทียมของหาดบ้านทอน เริ่มตั้งแต่หาดบ้านทอนถึงหาดนราทัศน์ ในตัวเมืองนราธิวาส ระยะการวางแนวจากริมชายหาด 3 กม. – 10 กม. ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานจากรัฐและเอกชน เช่น กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ 

159719962651

“การดำเนินโครงการฯ นี้ ตั้งแต่ปี 2545 ได้มีการวางแนวปะการังเทียม หรือเป็นบ้านให้ปลา เป็นแหล่งหลบภัย แหล่งวางไข่ ทำให้สัตว์ทะเลมีจำนวนมากขึ้น และชาวปะมงก็ออกไปจับสัตว์ทะเลได้ หรือไปตกปลาตรงนั้นได้เลย ส่วนในช่วงเวลาต่อจากนี้ ชาวบ้านก็ยังต้องการให้ทุกฝ่าย ร่วมมือกันเข้ามาช่วยฟื้นฟูทะเล อนุรักษ์ และเฝ้าระวัง เพื่อทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไปในอนาคตด้วย”

นอกจากนี้ ชุมชนหาดบ้านทอนยังมีโครงการดีๆอย่าง "การเลี้ยงปูทะเล" ที่เกิดจากการสนับสนุนของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในด้านองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเรื่องการหาเลี้ยงชีพทางการประมง ด้วยการ “สร้างรายได้เสริม” ในช่วงปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงมรสุมของน่านน้ำนราธิวาสให้กับชาวประมงในพื้นที่ แบดี ประธานกลุ่มฟื้นฟูฯชายฝั่งบ้านทอน กล่าว