'โควิด' คือ การปรับตัวไม่สิ้นสุด

'โควิด' คือ การปรับตัวไม่สิ้นสุด

วิกฤติโควิด-19 กระทบต่อทุกภาคส่วน รวมถึงเศรษฐกิจและธุรกิจ ทำให้ขณะนี้ “คน” กลายเป็นต้นทุนที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นภาระได้ทันที เมื่อบริษัทประสบกับความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มใช้คนนอกเพื่อลดต้นทุนกลับมานิยมอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจดูเหมือนเป็นภาวะฉับพลันและส่งผลอย่างรวดเร็วในระยะแรก แต่ยิ่งนานวันเราก็ยิ่งได้เห็นว่า โรคระบาดครั้งนี้จะอยู่กับเราอีกนาน จนทำให้มีผลกระทบตามมามากมายเกี่ยวเนื่องกับเรื่องต่างๆ อีกมหาศาล เกินกว่าที่เราจะจินตนาการ

เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเราคงเห็นผ่านสื่อต่างๆ กันตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เรื่องผลเกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยังมีเรื่องที่เรามองไม่เห็นอีกมาก โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจต่อของบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะลดการใช้บุคลากรลงอย่างเห็นได้ชัด

เพราะ “คน” กลายเป็นต้นทุนที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นภาระได้ทันที เมื่อบริษัทต้องประสบกับความไม่แน่นอน แนวโน้มในการเอาท์ซอร์สใช้คนนอกเพื่อลดต้นทุน จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เช่นเดียวกับการลดต้นทุนในด้านอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการแทน

แนวโน้มการบริหารงานนับจากนี้ไป จึงเน้นการขับเคลื่อนองค์กรที่กะทัดรัดและคล่องตัวมากขึ้น เพราะทุกคนมองเห็นแล้วว่าผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 นั้นยังส่งผลต่อเนื่องต่อไปอีกยาวนานการประคับประคองให้องค์กรอยู่รอดได้จึงใช้แผนระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การผ่อนผันการชำระหนี้และดอกเบี้ยของสถาบันการเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากลูกค้ายังไม่มีเงินชำระหนี้ในช่วงเวลานี้ก็ยังไม่ถูกสถาบันการเงินระบุว่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล

แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลาผ่อนผันแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีกำลังมาจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตของบุคคลทั่วไป หรือหนี้การค้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานานหลายเดือน

เพราะมาตรการผ่อนผันที่ออกมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้ช่วยต่อลมหายใจให้คนกลุ่มนี้ได้ แต่การยืดระยะเวลาออกไปก็อาจมีข้อจำกัด เมื่อถึงวันที่ผ่อนผันต่อไปไม่ได้ ภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

ดังนั้นหลายๆ บริษัทที่เริ่มเห็นแนวโน้มทางธุรกิจดีขึ้น เห็นการผ่อนคลายมาตรการภาครัฐที่ทยอยให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ได้เห็นกำลังซื้อที่เริ่มกลับมาเป็นปกติจนทำให้หลายๆ บริษัทมียอดขายพุ่งทะยานจนของไม่พอขายเนื่องจากอั้นกำลังซื้อมานาน

โดยเฉพาะตลาดไอทีที่ได้อานิสงส์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น บวกกับการทำงานนอกบ้านและการเรียนออนไลน์ ทำให้ความต้องการแท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนไม่พอขาย

แต่การจะเพิ่มสต็อกสินค้าเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวก็ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ เพราะเมื่อถึงวันที่มาตรการผ่อนผันทางการเงินสิ้นสุดลง ทั้งบุคคลธรรมดาและธุรกิจต้องกลับมาจ่ายสินเชื่อตามปกติกำลังซื้ออาจไม่สูงเท่าที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ที่เราอาจต้องเจอกับตัวแปรอื่นเพิ่มเติมจากโควิด-19 เช่น ภัยธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงของภัยธรรมชาตินั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ภาวะอุทกภัยในปีนี้ก็ร้ายแรงเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน

เพราะภัยธรรมชาติอันเกิดจากการผิดเพี้ยนของฤดูกาลต่างๆ ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งมาก เป็นประวัติการณ์และเมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุมเราก็ต้องเจอกับภาวะฝนตกน้ำท่วมรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวของธุรกิจจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา โดยแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักกันเลยทีเดียว