ความท้าทาย 'รมว.แรงงาน' ความเปราะบางหลังโควิด

ความท้าทาย 'รมว.แรงงาน' ความเปราะบางหลังโควิด

โจทย์ใหญ่และท้าทายของ ครม.ชุดใหม่ คือ การฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้เกิดการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว การค้าให้กลับมาขับเคลื่อน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคแรงงาน เนื่องจากจะทำให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น จากขณะนี้ถือว่าการจ้างงานอยู่ในสภาพต่ำสุดในรอบ 22 ปี

วิกฤติเศรษฐกิจกับตลาดแรงงานมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรง กรณีประเทศไทยมีความเปราะบางจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลกและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิค-19) 

ถึงแม้ประเทศไทยได้รับการจัดเป็นอันดับที่หนึ่งจากองค์กร “GCI : The Global COVID-19 Index” เป็นประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดยประเทศ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ไทย, เกาหลีใต้, ลัตเวีย, มาเลเซีย และไต้หวัน

แต่การแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงระหว่างการจัดทำรายงานฉบับนี้จำนวนผู้ป่วยสะสมและเสียชีวิตกลับพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความสามารถในการยุติการแพร่ระบาด ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปได้ว่าจะยุติได้เมื่อใด แต่คาดว่าหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ภาวะเศรษฐกิจจึงจะกลับมาใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

กรณีประเทศไทยรายชื่อการปรับ ครม.ใหม่ที่เข้ามาแทนที่รัฐมนตรีหลายคนที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรวมถึงกระทรวงแรงงานคือ คุณสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความท้าทายของรัฐมนตรีที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก สามารถพิจารณาได้จากปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในภาคส่งออกที่เดือน มิ.ย. ขยายตัวติดลบ 23.17%  ช่วงครึ่งปีหดตัว 7% เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ติดลบ 9.95% คาดว่าปีนี้จะหดตัวไม่น้อยกว่า -8 ถึง -10%

ตัวเลขที่แสดงว่า เศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว สะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรเดือน พ.ค.หดตัว 25.19% และเดือนมิ.ย.หดตัว -8.2% แสดงว่าภาคเอกชนยังไม่มีการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อตลาดแรงงาน

ในไตรมาส 4 ไปจนถึงปีหน้า การจ้างงานในขณะนี้ถือว่าอยู่ในสภาพต่ำสุดในรอบ 22 ปี โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 140,105 กิจการมีการจ้างงานประมาณ 6.1 ล้านคน กำลังการผลิตของเครื่องจักร (CPU) อยู่ที่ระดับ 52.84% ในจำนวนนี้พบว่ามีโรงงาน 4,458 แห่ง (ข้อมูลเดือน พ.ค.) มีการหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ส่งผลกระทบต่อแรงงานประมาณ 896,330 คน

อีกทั้งมีแรงงานว่างงานสะสมประมาณ 3-4 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคท่องเที่ยว ขณะที่ภาคค้าปลีก-ค้าส่งธุรกิจยังไม่สามารถกลับคืนเหมือนปกติเนื่องจากกำลังซื้อที่หายไป 

ส่วนมาตรการของรัฐที่พอช่วยได้คือ การส่งเสริมตามโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งมีผู้ลงทะเบียน 4.59-5.0 ล้านคน สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 66,414 แห่ง คาดว่าเงินหมุนเวียนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคงพอเยียวยาภาคท่องเที่ยวได้บ้าง ซึ่งการจ้างงานในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานชั่วคราว