บีโอไอเดินหน้าซัพคอนไทยแลนด์ คาดจับคู่ธุรกิจ4พันคู่เงินสะพัด7พันล.

บีโอไอเดินหน้าซัพคอนไทยแลนด์  คาดจับคู่ธุรกิจ4พันคู่เงินสะพัด7พันล.

บีโอไอ จับมือ อินฟอร์มาฯ จัดงาน ซับคอน ไทยแลนด์ – อินเตอร์แมค แสดงสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ ครั้งใหญ่ พร้อมจับคู่ธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทย คาดเกิดการจับคู่ธุรกิจ 4 พันคู่ มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้ร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงาน ซับคอน ไทยแลนด์ คู่ขนานไปกับ งานอินเตอร์แมค งานแสดงสินค้าภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจรครั้งยิ่งใหญ่ ที่รวมความก้าวหน้าด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ครบวงจรที่สุด รวมทั้งเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และงานจับคู่ธุรกิจครั้งสำคัญแห่งปี โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. นี้ ที่ไบเทคบางนา

โดยการจัดงานในครั้งนี้ งานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจชั้นนำระดับภูมิภาค รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมคุณภาพกว่า 200 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนงานโลหะ พลาสติกและยาง ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตและให้บริการในอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ โดยในปีนี้ บีโอไอ ได้เชิญผู้ซื้อจากหลากหลายประเทศเข้ามาร่วมงานพร้อมจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ไว้รองรับผู้ซื้อต่างชาติในปีนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดงานพอสมควร โดยในปีที่ผ่านมามียอดจัดคู่ธุรกิจกว่า 8 พันคู่ ในปีนี้ลดเป้าหมายลงเหลือประมาณ 4 พันคู่ ส่วนยอดขายในปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7 พันล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกเกิดการชะงักงัน ทำให้ภาคการผลิตฟื้นกลับขึ้นมาได้เพียง 50%

“ในปีนี้การจับคู่ธุรกิจจะเน้นผู้ประกอบการภายในประเทศและอาเวียน โดยเฉพาะเวียดนาม โดยจะเชิญผู้ซื้อจากเวียดนามทั้งที่เป็นโรงงานของชาวต่างชาติ ของคนไทยที่เข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนาม และผู้ประกอบการชาวเวียดนามให้เข้ามาซื้อชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมจากงานครั้งนี้มากขึ้นคู่ขนาดกับการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ที่จะมีห้องส่วนตัวให้ผู้ซื้อจากประเทศที่อยู่ใกล่ไม่สามารถมาไทยได้ให้เจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนชาวไทย”

นอกจากนี้ ผลจากโควิด-19 ยังส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบซัพพลายเชน ทำให้ชาวต่างชาติและโรงงานภายในประเทศหันมาซื้อชิ้นส่วนภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งผลิตต่างชาติ หากโควิด-19 ยืดเยื้อ หรือเกิดโรคระบาดรอบใหม่ ก็จะกระทบต่อการขนส่งชิ้นส่วนข้ามประเทศ

นางสาวซ่อนกลิ่น กล่าวว่า โควิด-19 ยังได้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หันมาใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะหากมีแรงงานในโรงงานติดโควิด-19 1 คน ก็ต้องหยุดผลิตทั้งโรงงาน ดังนั้นหากปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคระบาดในกลุ่มแรงงาน และยังช่วยลดต้นทุนค่าจ้างได้ในระยะยาว และเพิ่มประสิทิภาพการผลิตได้มากขึ้น ซึ่งภายในงานครั้งนี้ ก็จะมีเจ้าของแบรนด์เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาจัดแสดงสินค้าใหม่ๆที่มีข้อเสนอที่ดีให้กับลูกค้า

“ในปัจจุบันราคาหุ่นยนต์ได้ลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะหุ่นยนต์จากจีนที่มีราคาไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งภายในงานจะมีผู้เชี่ยวชายในการวางระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาให้คำปรึกษา เพื่อคำนวณต้นทุน การช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาการคืนทุนที่เหมาะสม ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่โรงงานเอสเอ็มอีจะเร่งปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว”

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ ประมาณ 500 บริษัท แรงงานประมาณ 50,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดคำสั่งซื้อลดลงเกือบ 100% เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนยายนต์ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงงานต่างหยุดผลิตชั่วคราว เช่น โตโยต้า นิสสัน จนส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ปลดคนงานแต่เลือกจ่ายค่าแรง 75% หรือตามตกลง ทำให้อุตสาหกรรมยังเดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสมาคมฯได้เล็งเห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด อุตสาหกรรมระบบราง ร่วมกับบริษัทโชคนำชัย ผู้ผลิตรถไฟ รถบัสอีวี เรือยอชท์ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนกองทัพอากาศ ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้เอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพแม้ราคาจะแพงกว่าต่างชาติแต่เงินจะอยู่ในประเทศ สร้างการหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจ