กยท.คาดยางแตะ50บาท/กก. คลายล็อกดาวน์-ผลผลิตน้อย

กยท.คาดยางแตะ50บาท/กก.  คลายล็อกดาวน์-ผลผลิตน้อย

กยท. ชี้ราคายางพาราแนวโน้มเพิ่มแตะกก.ละ 50 บาท ปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดทั้งใช้รถยนต์เพิ่ม-ถุงมือยาง ขณะปมสหรัฐฟ้องไทยทุ่มตลาดทำการส่งออกเร่งตัวเหตุผวาอัตราภาษีใหม่ปีหน้า ชี้ทิศทางราคายังไปต่อแนะเกษตรกรจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดหวั่นซับพลายล้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ช่วงปลายไตรมาส2/2563ราคายางปรับเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีโอกาสขึ้นไปถึงกิโลกรัม(กก.)ละ50 บาท  จากปัจจัยบวก คือ ผลผลิตในปีนี้2563 ออกสู่ตลาดไม่มากซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยแล้งก่อนหน้า สถานการณ์โควิด 19 ระบาด ทำให้ประชาชนทั่วโลกใส่ใจเรื่องความปลอดภัยหันมาใช้ถุงมือยางมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ราคายางในช่วงต้นไตรมาส 2/2563 ปรับตัวลดลงแรง จากปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง รวมทั้งทิศทางราคายางตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง Downtrend และอุปสงค์ยางลดลงจากการปิดโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และบางกิจการในไทย 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้น มาจากประชาชนเริ่มหันกลับมาใช้รถยนต์กันมากขึ้น เพราะกังวลเรื่องการระบาดกรณีใช้รถสาธารณะ ดังนั้นแม้อัตราการผลิตรถยนต์จะลดลง แต่การใช้ยางล้อยังมีต่อเนื่อง 

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีสหรัฐยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ให้ใช้มาตรการทุ่ม(เอดี)ตลาดกับไทย นั้น ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศต่างเร่งส่งออกล้อยางกันมากขึ้น เพราะกังวลเรื่องฐานภาษีใหม่ในปีหน้า จึงทำราคายางปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ดี อย่างมีเสถียรภาพ

“มาตรการทุ่มตลาดนั้นปัจจุบัน กยท. ได้หารือกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์อยู่เป็นระยะ เพื่อหามาตรการตอบโต้ ส่วนหนึ่งที่สหรัฐฯเห็นว่ายางล้อของไทยราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับยางล้อที่ผลิตในสหกรัฐฯเพราะ เป็นยางคนละประเภท อีกทั้งไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบ ทำให้มีนักลงทุนจากหลายแห่งเข้ามาลงทุน มากที่สุดคือ จีน “

อย่างไรก็ตาม กรณีมาตราการทุ่มตลาดของสหรัฐ จะมีผลกับการส่งออกยางล้อจากไทยในระยะยาว ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรองรับ โดยเฉพาะยางล้อขนาดเล็ก ที่ส่วนหญ่โรงงานของจีนเป็นผู้ผลิต

รายงานจาก กทย. แจ้งว่า จากสถานการณ์ราคายางในไตรมาสที่ 2/2563 ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้า สิงคโปร์ในช่วงปลายไตรมาสและเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จึงคาดว่าในไตรมาสที่ 3/2563 ราคายางมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ แต่ก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยโดยรวมคือสถานกาณณ์ฝนตกชุกหนาแน่นในเดือน ส.ค.- ก.ย. จะทำให้ยางออกสู่ตลาดน้อยลง รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา

ขณะที่ปริมาณสต็อกยางปรับตัวลดลง ทั้งในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 มี 239.149 พันตัน ลดลง45.31% ตลาดล่วงหน้าโตเกียว มี 8.976 พันตัน ลดลง 28.13 % ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนชะลอดูสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดแรงซื้อเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นและมาตรการการแก้ไขปัญหาราคายางเร่งด่วนจากหน่วยงานภาครัฐ ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเป็น วันที่ 31 ธ.ค.2566 เป็นต้น

ด้านอุปสงค์ถุงมือยางเพิ่มขึ้น โดยบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) จำกัด ทำกำไรในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 854 ล้านบาท และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้บริษัทมีคำสั่งซื้อถึงกลางปี 2564 บ่งชี้ว่าอุปสงค์น้ำยางสดยังคงขยายตัว ในขณะที่โรงงานการผลิตรถยนต์ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องปรับสัดส่วนการผลิตยางตามแนวโน้มราคาที่เปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด