ราคาหุ้น “ซีพีเอฟ” ปรับฐาน รอสัญญาบวกครึ่งปีหลัง

ราคาหุ้น “ซีพีเอฟ” ปรับฐาน   รอสัญญาบวกครึ่งปีหลัง

ช่วงก่อนหน้านี้ภาวะราคาเนื้อหมูราคาแพงในรอบ 10 ปี  ที่ราคาขายปลีก 150-170 บาทต่อกิโลกรัม จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ระดับชาติไปแล้วนั้นทำให้หุ้นในกลุ่มอาหารสัตว์ราคาปรับตัวขึ้นมาตามไปด้วย

          ขณะที่ในช่วงผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563  หุ้นใหญ่ในกลุ่มอาหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF   จะแจ้งรายได้และกำไรในงวดดังกล่าวช่วงวันนี้ (13 ส.ค. ) ซึ่งราคาหุ้นเสมือนจะรับข่าวไปแล้วและมีแรงขายออกมาปิดที่  32.75  บาท ลดลง 0.76  %

           จากความคาดหวังว่าธุรกิจอาหารซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มที่รอดปลอดภัยจากวิกฤติโควิด-19 ในไทยและต่างประเทศที่รุนแรงในช่วงปลายมี.ค. – พ.ค.   ทำให้มีความต้องการอาหารสดเพื่อปรุงรับประทานเองที่บ้าน 

            รายใหญ่อย่าง CPF มีการลงทุนทั้งในไทย จีน และเวียดนาม ได้ประโยชน์ทั้งเนื้อไก่และเนื้อหมู   บวกก่อนหน้านี้มีการขาดแคลนจากโรคระบาดในหมู African Swine Flu ในต่างประเทศ  ถึงขั้นจีนประกาศระงับการนำเข้าเนื้อหมูจากเยอรมนี หลังจากพบว่าคนงานกว่า 600 คนได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเป็นผลบวกต่อการส่งออก ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตแทนและสามารถส่งออกไปยังตลาดใหญ่ อย่าง จีนที่เป็นผู้บริโภคอันดับต้นๆของโลก มากขึ้น

            ตามการคาดการณ์แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2 ปี 2563 ของ CPF  มีทั้งจาก บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์  (ประเทศไทย)  ให้กำไรสุทธิ 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน  แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน 13 %  จากการล็อกดาวน์ในประเทศและต่างประเทศ กระทบยอดขายหน้าร้าน

             โดยยังมองว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายในเวียดนาม   จีนและไทยจากราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาราคาขายเฉลี่ยทั้งหมูและไก่เป็นระดับที่เกินกว่าจุดคุ้มทุนและได้ผลบวกจากบาทอ่อนส่งผลให้ กำไรขั้นต้นยังสูงถึง 17.5%  รวมทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมจาก HYLIFE เข้ามาซึ่งได้ผลบวกจากราคาหมูที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

            ทั้งนี้เมื่ออิงกับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี2563 ก่อนหน้านี้ทำสถิติจนนักลงทุนตื่นตาตื่นใจไปช่วงหนึ่ง  จากรายได้รวม  138,135 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  10 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิถึง  6,111 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นถึง 43 % ทำระดับนิวไฮของบริษัท

            ปัจจจัยสำคัญมาจากการยอดขายในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นชัดเจน  โดยเฉพาะในธุรกิจสัตว์เลี้ยง อย่างในเวียดนาม ซึ่งเป็นช่วงที่เผชิญโรคระบาดในหมูทำให้ซัพพรายหายไปจากท้องตลาดจากการต้องจำกัดหมูที่เป็นโรค ส่งผลต่อราคาเนื้อหมูในตลาดขยับตัวสูงขึ้น 70,000 ดอง/กิโลกรัม จาก  46,000 -47,000 ดอง/กิโลกรัม ล่าสุดอยู่ที่ 90 ,000 ดอง /กิโลกรัม

            CPF สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นในไทย สำหรับธุรกิจสัตว์เลี้ยง 15.4 %     และธุรกิจสัตว์น้ำ  10.6 ขณะที่ในต่างประเทศ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง 20.4 % และธุรกิจสัตว์น้ำ  17.1 % 

            ด้วยกำไรที่ปรับตัวขึ้นมาทำสถิติทำให้ด้าน CPF  ยังประเมินตัวเองว่าไตรมาส 2 ปี 2563 ไม่ได้เติบโตเท่าหรือมากกว่า  เพราะมีช่วงที่ล็อกดาวน์ มี-ค.-เม.ย. ทำให้ยอดขายหน้าร้านหายไป และกลับมีมาความต้องการบริโภคในช่วง พ.ค.

            เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการในกลุ่มเดียวกันที่ประกาศผลดำเนินงานออกมาแล้ว บริษัท  จีเอฟพีที จำกัด  (มหาชน) หรือ GFPT เป็นผู้เลี้ยงไก่และส่งออก  ที่ทำรายได้  3,321 ล้านบาท  ลดลง 23.58 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน และทำกำไร  222.96 ล้านบาท ลดลง  34.81  %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน

            บริษัทรับว่ามีผลกระทบทางการตลาด ทั้ง ตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ จากการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผลประกอบการ โดยภาพรวมของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

           หากเปรียบเทียบกับ CPF ที่ทำธุรกิจฟาร์มหมู ไก่ และ สัตว์น้ำ  ด้วยการลงทุนในต่างประเทศ  มีการนำมาแปรรูปเพื่อนำไปขายเป็นอาหารสำเร็จรูปผ่านร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ทำให้นักลงทุนยังคงมองว่าแม้กำไรจะไม่เติบโตมากกว่าไตรมาสที่ผ่านมาแต่หลังจากคลายล็อกดาวน์ และพฤติกรรมการซื้ออาหารมาปรุงรับประทานเอง  จึงทำให้หุ้น CPF  จึงมีมุมมองบวกต่อสำหรับโบรกเกอร์