ธุรกิจ ‘โรงกลั่น-ปิโตร’ ฟื้นชัด ดัน ‘ปตท.’ พลิกกำไร 1.2 หมื่นล.

ธุรกิจ ‘โรงกลั่น-ปิโตร’ ฟื้นชัด  ดัน ‘ปตท.’ พลิกกำไร 1.2 หมื่นล.

นักวิเคราะห์ชี้ธุรกิจ ‘โรงกลุ่มกลั่น-ปิโตรเคมี’ ช่วยหนุนปตท.พลิกมีกำไรไตรมาส 2 ขณะที่ธุรกิจขุดเจาะและก๊าซยังหวังแย่ หวังฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 4 ตามต้นทุนก๊าซที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน

ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 54% จากปีก่อน ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิ 1.6 พันล้านบาท

การฟื้นตัวของผลประกอบการของ PTT โดยหลักหนุนจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น แม้รายได้จากการขายจะลดลง 39.6% จากปีก่อน เหลือ 1.51 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมี โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม EBITDA ของธุรกิจเพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 9.88 พันล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจหลักอย่าง การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงธุรกิจจำหน่ายก๊าซ มี EBITDA ลดลง 33% และ 44% ตามลำดับ ทำได้ 2.3 หมื่นล้านบาท และ 1.1 หมื่นล้านบาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของ PTT เป็นไปตามที่เราและตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิที่ลดลง 54% ในไตรมาส 2 นี้ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง หากพิจารณาแยกในแต่ละธุรกิจ พบว่าธุรกิจปลายน้ำอย่าง โรงกลั่น-ปิโตรเคมี มีผลประกอบการดีขึ้นจากไตรมาสแรก หนุนจากกำไรสต็อกน้ำมัน ประโยชน์ต้นทุนน้ำมัน (Crude premium) ที่ลดลงจากผลของสงครามราคาน้ำมัน และส่วนต่างราคาปิโตรเคมีที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบลดลงตามราคาน้ำมันดิบ

159719995682

นอกจากนี้ บริษัทมีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทแข็งค่า 6.7 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจที่มีผลประกอบการอ่อนแอลง ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและขุดเจาะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง และการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ ธุรกิจก๊าซถูกกดดันจากความต้องการใช้ก๊าซที่ลดลงสอดคล้องอุปสงค์ไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ส่วนธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ทำให้ยอดขายน้ำมันอากาศยานเหลือเพียง 15-20% และการบันทึกหนี้สงสัยจะสูญจากสายการบิน 2 แห่งราว 650 ล้านบาท

“แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทครึ่งปีหลัง คาดว่าไตรมาส 3 อาจจะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย แต่ในไตรมาส 4 น่าจะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากต้นทุนก๊าซฯ มีแนวโน้มลดลง เพราะโดยปกติแล้วราคาก๊าซในอ่าวไทยจะปรับราคาเพียงปีละครั้งช่วงเดือน ต.ค. ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนของก๊าซยังไม่ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน คาดว่าต้นทุนของก๊าซจากอ่าวไทยจะลดลงราว 17%”

นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชียเวลท์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่กลับมาฟื้นตัว เพียงพอสำหรับชดเชยกลุ่มธุรกิจที่เหลือ ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผ่านบริษัทย่อยอย่าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจน้ำมัน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาและปริมาณการขายที่ลดลง

ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ผ่าน 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่ฟื้นตัวได้ จากมาร์จินที่ดีขึ้นตามค่าการกลั่นและส่วนต่างราคาปิโตรเคมี

ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลง 59% เหลือ 3 หมื่นล้านบาท จากเดิม 5.8 หมื่นล้านบาท จากปรับผลกระทบขาดทุนจากสต็อกน้ำมันใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ของกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีและปรับลด EBITDA ของกลุ่มธุรกิจก๊าซของ PTT ลง 20% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และปรับประมาณการกำไรปี 2564 ลง 6% เป็น 7 หมื่นล้านบาท จากเดิม 7.3 หมื่นล้านบาท โดยหลักเป็นการปรับลด EBITDA ธุรกิจก๊าซของ PTT ประมาณ 4 พันล้านบาท