ส่องทางรอดธุรกิจ หลังวิกฤตโควิด-19

ส่องทางรอดธุรกิจ หลังวิกฤตโควิด-19

กสร. แนะจัดทำมาตรฐานแรงงานไทย ป้องกันแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้า โดยเฉพาะในธุรกิจส่งออก ด้าน CIBA แนะทางรอดธุรกิจหลังโควิด-19 ชี้หาตลาดใกล้ CLMV ตลาดแรงงานแนะ Up Skill ทักษะด้านผู้ประกอบการและดิจิทัล มั่นใจช่วยหางานง่าย

มาตรฐานแรงงานไทย ถูกจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบทาสังคมด้านแรงงาน ส่งผลให้แรงงานได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ป้องกันแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้า โดยเฉพาะ ในธุรกิจส่งออก เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัท ในการจัดสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มรท.8001-2546 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจ เพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานงานสากล โดย สถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสทางการค้า

159713190475

ล่าสุด มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงาน การออกกฎหมายเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากล ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย มรท.๘๐๐๑-๒๕๖๓ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สถานประกอบกิจการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า มาตรฐานแรงงานไทย ฉบับล่าสุด เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกฎหมายแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากล การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน รวมถึงข้อกำหนดระบบการจัดการแรงงานเพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ประกอบด้วยข้อกำหนด 2 ส่วนหลัก คือ “ระบบการจัดการแรงงาน” เป็นระบบจัดการคุณภาพเพื่อประกันว่า การปฏิบัติต่อแรงงานจะสอดคล้องกับข้อกำหนดอย่างมีคุณภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ “สิทธิแรงงานและ การคุ้มครอง” ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงมาจากอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่นที่รวมอยู่ในเงื่อนไขทางการค้า

159713187228

“สถานประกอบกิจการที่ทำมาตรฐานแรงงานไทย จะมีส่วนช่วยให้กิจการเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการแรงงานที่เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน ได้รับการคุ้มครองไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี เพิ่มศักยภาพแรงงานที่ดีให้สามารถเข้าร่วมเวทีการค้าระดับสากลได้ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนจากต่างประเทศ” อธิบดี กสร. กล่าว

ทั้งนี้ ระบบการประเมินและการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบการรับรอง เป็นการประเมินโดยหน่วยงานตรวจหรือหน่วยรับรอง ทั้งจากภาครัฐ (กสร.) และ ภาคเอกชน (CB) สามารถนำใบรับรองไปแสดงต่อ คู่ค้าได้ และ 2. ระบบการประกาศแสดงตนเอง เป็นการประเมินด้วยตนเองว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในระบบ ถือเป็นการแสดงเจตจำนง ไม่มีการประเมินจากบุคคลภายนอก เป็นการรับรองด้วยตนเอง

โดยระดับและอายุการรับรอง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับพื้นฐาน เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการ เฉพาะในส่วนที่เป็นเอกสารตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลา ในวันหยุด และการทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยมีอายุการรับรอง 2 ปี

2. ระดับสมบูรณ์ เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุ การรับรอง 3 ปี และ 3. ระดับสมบูรณ์สูงสุด เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 12 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี

159713190465

สำหรับ สาระสำคัญ มรท.8001-2563 เป็นมาตรฐานแรงงานไทย ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจด้านแรงงาน โดยสถานประกอบกิจการจะดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการแรงงาน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งต้องครอบคลุมในเรื่อง 1) ข้อกำหนดทั่วไป 2) ระบบการจัดการ 3) การบังคับใช้แรงงาน 4) ค่าตอบแทนการทำงาน 5) ชั่วโมงการทำงานและเวลาพัก 6) วันหยุด วันลา 7) การเลือกปฏิบัติ 8) วินัยและการลงโทษ า9) การล่วงเกินทางเพศและการใช้ความรุนแรง 10) การใช้แรงงานเด็ก 11) การใช้แรงงานหญิง 12) เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง13) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ 14) สวัสดิการแรงงาน

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการทำบันทึกความตกลงร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำหรับผู้ประกอบกิจการที่จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark)ในการสร้างความเชื่อมั่นยกระดับภาพลักษณ์สำหรับสินค้าส่งออก โดยสถานประกอบกิจการที่จะขอตรา T Mark ต้องเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยอย่างน้อยในระดับพื้นฐาน

159713190468

ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2563) มีสถานประกอบกิจการที่ได้รับอนุมัติการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อนำไปสมัครขอใช้ตราสัญลักษณ์ T Mark จำนวน 281 แห่ง ลูกจ้าง จำนวน 100,488 คน มูลค่าการส่งออก จำนวน 259,028 ล้านบาท มีสถานประกอบกิจการได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark จำนวน 80 แห่ง ลูกจ้าง จำนวน 29,170 คน

ข้อมูลสถานการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานไทย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีสถานประกอบกิจการมีการจัดการด้านมาตรฐานแรงงานไทย จำนวน 1,158 แห่ง ลูกจ้าง 528,401 คน เป็นสถานประกอบกิจการส่งออกจำนวน 344 แห่ง มูลค่าการส่งออก 141,215 ล้านบาท เป็นการขอการรับรองจำนวน 469 แห่ง ลูกจ้าง 282,732 คน ประกาศแสดงตนเอง จำนวน 689 แห่ง ลูกจ้าง 245,785 คน

โดยแบ่งเป็น ระดับพื้นฐาน จำนวน 768 แห่ง ลูกจ้าง 245,785 คน ระดับสมบูรณ์ จำนวน 351 แห่ง ลูกจ้าง 254,730 คน และ ระดับสมบูรณ์สูงสุด จำนวน 39 แห่ง ลูกจ้าง 27,886 คนประโยชน์ที่ได้รับจากการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย พบว่าลูกจ้างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมีสถิติจำนวนผู้ประสบอันตรายลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

159713190474

  • ตลาดแรงงานหลังโควิด-19 เน้นพึ่งพาดิจิทัลโลจิสติกส์

ด้าน CIBA DPU จับมือ IBERD จัดเวทีเชิญกูรูด้านการค้าระหว่างประเทศ-โลจิสติกส์ ร่วมแนะทางรอดธุรกิจหลังโควิด-19 ชี้หาตลาดใกล้ CLMV ตลาดแรงงานแนะ Up Skill ทักษะด้านผู้ประกอบการและดิจิทัล มั่นใจช่วยให้หางานง่าย นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เตือนพลังการเลือกจะกลับไปอยู่ในมือลูกค้า ชี้แบรนด์อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป ต้องวัดกันที่ความคุ้มค่าของเงิน

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) DPU ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) จัดกิจกรรมIBERD Virtual Live Business and Economic Conferenceโดยเป็นความร่วมมือเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการค้าสำหรับครั้งที่3จัดภายใต้หัวข้อ “การค้าและการลงทุนภายใต้กลุ่มประเทศ CLMV หลังวิกฤตการณ์โควิด -19”

โดย นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเมกะเทรนด์โลกในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี วิกฤตดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลายในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้โปรแกรม Zoom เพื่อประชุมทางไกล นอกจากนี้ ยังเป็นตัวเร่งให้คนใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ประเทศไทยถือว่ามาถูกทางที่ทำการค้ากับ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) หรือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นเขตการค้าเสรี (Free Trade Area:FTA)ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยจึงทำให้ไทยได้เปรียบหลายด้าน

แต่ต้องขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดิจิทัล เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการค้าระหว่างประเทศ ส่วนด้านการเรียนการสอนนั้นคนรุ่นใหม่ที่จบออกมาชอบทำงานอิสระ ไม่อยากเป็นลูกจ้างใครดังนั้น ในระยะสั้นนี้ ทักษะที่จะทำให้มีงานทำและมีรายได้ คือ ทักษะความเป็นผู้ประกอบการและด้านดิจิทัล ถ้าใครมีสองสิ่งนี้เชื่อว่าจะทำให้มีงานทำและ มีStartupดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า เมื่อสายการบินทุกสายหยุดชะงักกะทันหัน การขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารได้เกิดผลกระทบอย่างหนัก การขนส่งสินค้าเร่งด่วน สินค้าอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะส่งไปทั่วโลกติดอยู่ที่สนามบิน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องหาหนทางส่งสินค้าให้ถึงเป้าหมาย ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการขนส่งซึ่งต้นทุนสูงกว่าเดิม

ต้องค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ระยะเวลาขนส่งรวดเร็ว ต้นทุนไม่สูงความร่วมมือทางการค้ากับCLMVไทยถือเป็นรายใหญ่ในการส่งออก ขณะเดียวกันตลาดที่เราต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไปคือจีน เนื่องจากอนาคตอันใกล้จะเห็นภาพการขนสินค้าทางบกจากไทยไปลาว จีน เอเชียกลาง 11 ประเทศ ผ่านระบบราง และเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้ ดังนั้นไทยควรมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน แต่ไทยยังต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญต้องกลับมาดูจุดแข็งของประเทศหรือดูโครงสร้างใหม่ เนื่องจากการค้าขายในอนาคตมีหลากหลายช่องทาง นอกจากนี้การพัฒนาระบบE-Documentเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำงานกับท่าอากาศยานและการท่าเรือสะดวกรวดเร็วขึ้นทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศที่มีความพร้อม อันจะนำไปสู่ระบบดิจิทัลโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ได้ 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เมื่อดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลในภาคธุรกิจมากขึ้น พลังการเลือกมันจะกลับไปสู่ลูกค้า มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถสั่งอาหารได้ การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น แล้วลูกค้าก็จะมีสิทธิเลือกมากขึ้น อำนาจการเลือกจะไปอยู่กับลูกค้า เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีสิทธิเลือกข้อมูลที่ครบถ้วนขึ้น ฉะนั้นธุรกิจก็ต้องปรับตัว

ต่อไปแบรนด์อาจไม่สำคัญกับสินค้าบางประเภท มีผู้ประกอบการหลายรายที่เติบโตด้วยการไม่มีแบรนด์แต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าตัวเองมีคุณภาพ ฉะนั้นหลังจากนี้จะเป็นธุรกิจโลกที่เกิดขึ้นใหม่ที่วัดจากความคุ้มค่าของเงิน ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวตรงนี้และต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารให้ดียิ่งกว่าเดิม

สำหรับทางรอดของคนหรือนักศึกษาหลังจากนี้คือ ต้องค้นหาตัวเองให้พบ เพราะยุคต่อไปเป็นยุคที่เราใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานสร้างอาชีพได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเหมือนคนอื่น ที่สำคัญคือหาตัวเองให้พบ แล้วฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองชอบให้ถึงที่สุดจะอยู่รอดได้

159713158463