‘บลูมเบิร์ก’ ยก ‘เศรษฐกิจไทย’ ทุกข์ยาก ‘น้อยสุด’ ในโลก 4 ปีซ้อน

‘บลูมเบิร์ก’ ยก ‘เศรษฐกิจไทย’ ทุกข์ยาก ‘น้อยสุด’ ในโลก 4 ปีซ้อน

“บลูมเบิร์ก” จัดอันดับเศรษฐกิจทุกข์ยากมากที่สุดและน้อยที่สุดในโลก ชี้ “ไทย” ทุกข์ยาก “น้อยที่สุด” ในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่เวเนซุเอลาทุกข์ยาก “มากที่สุด” 6 ปีซ้อน ส่วนยักษ์ใหญ่สหรัฐร่วง 25 อันดับ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์บลูมเบิร์ก เผยดัชนีความทุกข์ยากประจำปี 2563 ซึ่งประเมินจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานใน 60 เศรษฐกิจทั่วโลก ณ วันที่ 27 ก.ค. พบว่า ไทยยังครองอันดับ 1 ประเทศที่มีเศรษฐกิจทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก และเป็นการครองอันดับ 1 ในดัชนีนี้เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2560

บลูมเบิร์กอธิบายถึงการจัดทำดัชนีดังกล่าวว่า เป็นการคำนวณโดยอาศัยกรอบแนวคิดเดิมที่ว่าอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ โดยทั่วไปแล้วจะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ

ดัชนีของบลูมเบิร์กระบุว่า การจัดทำตัวเลขอัตราว่างงานของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น จึงมีความสำคัญไม่มากเท่าพัฒนาการของไต้หวันที่ไต่ขึ้น 2 อันดับมาอยู่อันดับ 6 หรือสิงคโปร์ที่ขึ้นจากอันดับ 3 ปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 2 ในปีนี้

ขณะที่สหรัฐซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ร่วง 25 อันดับจากประเทศที่มีเศรษฐกิจทุกข์ยากน้อยที่สุดอันดับ 10 ปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 35 ในปีนี้ ตอกย้ำว่าการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากเพียงใด

อันดับที่ร่วงหนักของสหรัฐมีขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อชนะการเลือกตั้งอีกสมัยช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนยังคงตกงาน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์เกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัว โดยยอดผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐอยู่ที่ 1.186 ล้านคนเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.42 ล้านคน และเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ

ในดัชนีของบลูมเบิร์ก เกือบทุกเศรษฐกิจที่ถูกสำรวจต่างคาดว่าจะเผชิญกับภาวะทุกข์ยากหนักขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์คาดว่าการว่างงานจะเพิ่มขึ้น และการเติบโตจะฟื้นแบบอ่อนแรง

ส่วนเวเนซุเอลา ยังคงครองตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจทุกข์ยากที่สุดในโลก 6 ปีซ้อนในดัชนีบลูมเบิร์ก ตามมาด้วยอาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกีที่ยังรั้งกลุ่มทุกข์ยากที่สุดตั้งแต่ปี 2562

ปัจจุบัน เวเนซุเอลาประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีเงินเฟ้อของบลูมเบิร์กคาดว่า อัตราเงินเฟ้อขณะนี้ของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 4,043%

นอกจากนี้ ดัชนีความทุกข์ยากปี 2563 ของบลูมเบิร์กเผยว่า บรรดาประเทศที่มีพัฒนาการอย่างน่าจับตามอง รวมไปถึงลักเซมเบิร์กที่อันดับดีขึ้นมากที่สุดเทียบกับปีที่แล้ว โดยขยับจากอันดับ 30 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก มาอยู่ที่อันดับ 13

ในจีน ซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาดโควิด-19 แห่งแรก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ข้อมูลการว่างงานและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบระดับปานกลาง โดยอันดับในดัชนีดีขึ้น 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 16 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก

ขณะที่เยอรมนี แม้ได้คะแนนรวมปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก แต่อันดับในดัชนีดีขึ้น 10 อันดับ เนื่องจากประเทศมีความเปราะบางน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ต้องต่อสู้กับผลกระทบจากโควิดในตลาดแรงงาน