ชงโละ '6ผบ.เหล่าทัพ' นั่ง ส.ว. - ม็อบประกาศชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.

ชงโละ '6ผบ.เหล่าทัพ' นั่ง ส.ว. - ม็อบประกาศชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.

ส.ว.ขยับเสนอโมเดลแก้ รธน. “วันชัย” โละ “6 ผบ.เหล่าทัพ” พร้อมรื้อปมโหวตนายกฯ-เลือกไขว้ จ่อชงกมธ.พัฒนาการเมืองวันนี้ ด้านครช.ชงปลดล็อกกฎหมายประชามติ เปิดทางตั้งส.ส.ร.รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขณะที่ม็อบ มธ.ย้ำจุดยืน 3 ข้อ นัดชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค. 

ความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วานนี้ (10 ส.ค.) มีความเห็นมาจากนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ระบุว่า ส่วนตัวขอย้ำถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ใน 4 ประเด็นที่เห็นว่า เป็นปัญหา คือ อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่จำเป็นเหมือนในอดีต ที่ต้องประคับประคองสถานะของรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จากอำนาจเบ็ดเสร็จมาเป็นประชาธิปไตย และเสนอให้ยกเลิกการกำหนดให้ตำแหน่งความมั่นคงมาเป็นส.ว. 6 ตำแหน่ง โดยระบุว่า การให้ผบ.เหล่าทัพมาเป็น ส.ว. ไม่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารหรือไม่ และไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแก้ไขเรื่องการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่มาจากการเลือกไขว้ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ซับซ้อน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ไขเรื่องการให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ ที่อ้างว่า กระบวนการยังมีปัญหาและคุณสมบัติผู้สมัครที่กำหนดไว้สูง เช่น การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินมากว่า 2 ปีแล้ว พร้อมกล่าวย้ำว่า เป็นเรื่องที่สมาชิกวุฒิสภาควรพิจารณาคู่ขนานไปกับการดำเนินการของ ส.ส.และฝ่ายบริหาร และเห็นว่า ยังควรมี ส.ว.อยู่ เพราะหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยยังมีวุฒิสภา และมี 2 สภา ซึ่งเห็นว่า จะเป็นองค์กรที่กลั่นกรองตรวจสอบ

ส่วนการหารือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.นั้น นายวันชัย ระบุเป็นความเห็นส่วนตัวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ส.ว.ต้องมีการหารือกัน โดยได้สอบถามประธานวุฒิสภา และพรุ่งนี้(11ส.ค.)คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองของวุฒิสภาจะนำหารือในที่ประชุม โดยเชื่อว่า แต่ละกลุ่มที่มีการหารือกัน แต่ในทางการจะใช้เวทีของวิปวุฒิสภาดำเนินการซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า จะนำเข้าที่ประชุมเมื่อไหร่

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุม 2 กลุ่มที่บริเวณอาคารรัฐสภา คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.)ทำกิจกรรมแสดงจุดยืน“ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น” ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา

ครช.ชงตั้งส.ส.ร.รื้อรธน.ทั้งฉบับ

โดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตัวแทนแถลงการณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่มและสร้างเงื่อนไขอย่างแน่นหนาในการแก้ไขตามมาตรา 256 ขณะเดียวกันเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง เพราะตระหนักว่าความเลวร้ายที่พวกเขาได้เจออยู่ตอนนี้

ทั้งนี้แม้จะมีการตอบสนองการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคการเมืองทั้งส.ส.และส.ว.แต่ก็แก้ไขเฉพาะมาตราและเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นกลุ่มของตนจึงยื่นหนังสือแก่วิปฝ่ายค้านจึงขอยื่นร่างพ.ร.บ.ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้บรรจุในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ออกเป็นกฎหมายต่อไป

 

ฝ่ายค้านรับลูกลุยล่าชื่อยื่นสภา

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน มารับหนังสือจาก ครช. พร้อมทั้งกล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับทุกท่าน ที่มาวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข

พรรคฝ่ายค้านร่างและลงชื่อเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเสนอต่อรัฐสภา แต่รอให้มีการพิจารณาร่วมกับ ส.ว.และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนและจะยื่นในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.2563 แต่บันไดที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญคือ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติซึ่งได้รับจาก ครช.วันนี้ฝ่ายค้านจะนำไปตรวจสอบสาระและข้อกฎหมาย

ก่อนที่จะให้สมาชิกลงชื่อและเสนอภายในสัปดาห์นี้ทั้งนี้แต่เมื่อเข้าสู่วาระของสภาแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเราจะต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น พร้อมชี้แจงว่า ร่างแก้ไรรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านมี 2 เรื่องหลัก คือ แก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกันกับ ครช.แน่นอน

ขณะที่บรรยากาศในช่วงท้าย ผู้ชุมนุมได้เผากงเต๊กรัฐธรรมนูญส่งไปให้คนร่าง และอ่านบทกวียืนยันอุดมการณ์ของกลุ่ม 

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยมีตำรวจจากพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล(บก.น.1)และกองบังคับการตำรวจนครบาล(บก.น.4)กว่า200นายตั้งแถวตรึงกำลังรอบด้านหน้าอย่างแน่นหนาพร้อมตั้งรั้วเหล็กกั้น

อาชีวะชง2ข้อจี้สภาป้องสถาบัน

วันเดียวกันกลุ่มแนวร่วมปกป้องสถาบันฯ นำโดยศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 50 คน นัดรวมตัวกันที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการกรุงเทพมหนคร (เกียกกาย) เพื่อยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่ม และกลุ่มคนที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกออนไลน์ หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ละเลยให้บานปลาย โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาฯ เป็นผู้รับหนังสือ

นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำได้อ่านแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องการความรู้รักสามัคคี แต่มีกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหว โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุยงให้แตกแยก เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น กลุ่มนักเรียนอาชีวะและนักศึกษาประชาชนที่มีใจรักสถาบันและแผ่นดินไทยเห็นว่า ถึงเวลาที่จะรวมตัวกันประท้วงกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือทำลายชาติ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

พวกเราจึงรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์การประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบัน

(ศอปส.)ขึ้น เพื่อดำเนินการท้วงติงให้สติต่อกลุ่มเยาวชน พ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติ

โดยกลุ่มจะใช้วิธีการต่อต้าน ด้วยการเปิดเผยชื่อบุคคลที่ชังชาติและดำเนินการกับกลุ่มที่หมิ่นสถาบันอย่างถึงที่สุด

 นอกจากนี้ ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อ่านข้อเรียกร้องถึงประธานสภาฯ ขอให้รัฐสภาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเจตนารมณ์อย่างไร ซึ่งจากการประชุมได้ข้อสรุป 3 ข้อ 

  1. มีกลุ่มการเมืองที่มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมนุม และมีการส่งชุดความคิดไม่ถูกต้อง2.ตั้งแต่ก่อนการเลือกกลุ่มนักการเมืองพยายามสร้างวาทกรรมแบ่งแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง คือประชาธิปไตย ฝ่ายที่ 2 คือ เผด็จการการกระทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจผิด

3.ปัจจุบันกลุ่มการเมืองใช้วาทกรรมในการแบ่งแยกประชาธิปไตยออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งในนามกลุ่มพิจารณาแล้วว่า รัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันด้านประชาธิปไตยที่มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ต้องดำเนินการดังนี้

จี้สภาสอบนักการเมืองหนุนหลัง

1.ควบคุมการเมืองที่ปลุกปั่น อย่าให้ดำเนินการเช่นนี้อีก และตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองเหล่านี้พร้อมลงโทษตามความผิดรัฐธรรมนูญ 2.ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะเดินทางมายื่นหนังสือที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา แต่มีเจ้าหน้าที่คอยสกัด เพื่อไม่ให้มีการประทะกับกลุ่ม ครส.ที่ยื่นข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนหน้า

ม็อบมธ.นัดชุมนุมใหญ่16ส.ค.นี้

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมในช่วงเย็น ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นบริเวณลานพญานาค ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ เป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมถึงประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทยอยกันเข้ามาร่วมกิจกรรม

โดยมีการตั้งเวทีกิจกรรม ที่มีจอแอลอีดีขนาดใหญ่เป็นฉาก อุปกรณ์แสง สีสำหรับการใช้แสดงดนตรี และการปราศรัยด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการชุมนุมที่ผ่านๆมา เพราะรูปแบบทันสมัย กิจกรรมได้เริ่มจากการแสดงดนตรี สลับกับการปราศรัยโจมตีรัฐบาล เพื่อสร้างสีสันให้กับการชุมนุม

 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำผู้จัดกิจกรรม ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่าเพื่อเป็นการย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยไม่มีการทำรัฐประหาร ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค.นี้

ล่า5หมื่นรายชื่อลุยแก้รธน.

สำหรับไฮไลท์สำคัญของการปราศรัย อยู่ที่ 2 ใน 11 คน นั่นคือ นายอานนท์ นำภา ทนายความ และ ไมค์ หรือ ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ส.ค. ซึ่งจะถือเป็นการปราศรัยหลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเป็นเวทีที่ 2 ของนายอานนท์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมล่ารายชื่อ 50,000รายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ของกลุ่มไอลอว์ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนด้วย